วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2024

นักกำหนดอาหารหญิงไทยกับงานเพื่อผู้ป่วยโควิดในอิสราเอล

  • เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

อาดีร์ยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งทุ่มเทให้กับการทำงานช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลผ่านเพจเฟซบุ๊ก

ขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ผู้คนหลายล้านเจ็บป่วยล้มตาย ในอีกมุมหนึ่งของโลก นักกำหนดอาหารหญิงไทย (dietitian) คนหนึ่ง มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิดที่เป็นผู้สูงอายุ ในอิสราเอล ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนนำหน้าประเทศอื่นอยู่ในขณะนี้ เธอบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า “โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ” ร่วมด้วย

นอกจากนี้ กัญญพชร อาดีร์ บาคาร์ ลูกครึ่งไทย-อิสราเอล ยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งทุ่มเทให้กับการทำงานช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อาดีร์ ล่ามอิสระแปลไทย-ฮีบรู” โดยหวังว่า จะช่วยคนงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบ และรู้จักต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง

“เพื่อนร่วมงานของอาดีร์ทุกคนมีลูก มีสามี มีครอบครัวกันหมด อีกคนหนึ่งก็เพิ่งจะแต่งงาน เพิ่งจะตั้งท้อง อาดีร์ก็เลยอาสาเพราะว่าเป็นคนเดียวที่อยู่บ้านคนเดียว” อาดีร์ เล่าถึงที่มาของการได้เข้าไปทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์การแพทย์โดโรตเพื่อการฟื้นฟูและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Dorot – Medical Center for Rehabilitation and Geriatrics) ในเมืองนาตาเนีย (Netanya)

กลัวแต่จำเป็น

ช่วงที่เธอเริ่มเข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้สูงอายุเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว อิสราเอลกำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง แต่เธอเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในเดือน เม.ย. ซึ่งช่วงนั้นผู้คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่มาก ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้ให้นักกำหนดอาหารเข้าไปดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์และพยาบาล แต่เมื่อการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น เธอก็ได้รับภารกิจสำคัญที่เธอ “รู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ”

“กลัวก็กลัวค่ะ แต่คิดว่า พีพีอี ก็ใช้ได้” เธอเชื่อมั่นในการใช้งานชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ พีพีอี ประกอบกับนักระบาดวิทยาที่คอยตรวจสอบให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดจึงทำให้รู้สึกอุ่นใจมากยิ่งขึ้น

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

เธอเริ่มเข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิดสูงอายุในเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่อิสราเอลกำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง

“เขามาช่วยตรวจสอบเราตลอดว่า เราป้องกันถูกต้องไหม เราใส่อุปกรณ์ป้องกันถูกต้องไหม เวลาถอด เราถอดแบบถูกต้องไหม คือมีการดูในกล้องเลยค่ะว่า เราถอดตามขั้นตอนเป๊ะ ๆ ไหม แล้วพอเราถอดมาปุ๊บ ต้องรีบไปอาบน้ำค่ะ” แต่ถึงจะมีการคุมเข้มเรื่องการป้องกัน แต่เธอก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิดได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

“โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ”

นักกำหนดอาหารวัย 30 ปี เล่าว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 สูงวัยที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลของเธอ ส่วนใหญ่น้ำหนักตัวลดลง 5-10 กิโลกรัม ภายในเวลาเดือนเดียว งานของเธอจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดอาหารเสริมที่ให้ทั้งพลังงานและโปรตีนอย่างเพียงพอ การตรวจสอบปัญหาในการกลืนอาหารของคนไข้ รวมถึงการโน้มน้าวคนไข้ให้กินอาหารให้ได้ตามปริมาณที่ควรจะเป็น

อาดีร์ได้เข้าร่วมการประชุมสมาคมโภชนาการคลินิกและกระบวนการเผาผลาญแห่งยุโรป (The European Society for Clinical Nutrition and Metabolism — ESPEN) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด_19 เธอเล่าว่า ทุกคนต่างมีข้อมูลตรงกันว่า ผู้ป่วย “น้ำหนักลดเร็วมาก มีโอกาสขาดสารอาหารเยอะมาก” และสรุปว่า “โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ” ร่วมด้วย

นักกำหนดอาหารคือใคร

ที่มาของภาพ, Getty Creative

นักกำหนดอาหารเป็นอาชีพที่ได้รับการรับรองในการทำหน้าที่ประเมิน วินิจฉัย และรักษา ปัญหาด้านโภชนาการและการควบคุมอาหาร พวกเขาทำงานกับทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ป่วย นักกำหนดอาหารนำความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย โดยนักกำหนดอาหารจะใช้งานวิจัยเกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ และโรคภัยไข้เจ็บ ที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในการให้คำแนะนำผู้คนให้ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและอาหารการกินให้สอดคล้อง

จากประสบการณ์ในการทำงานที่แผนกผู้ป่วยโควิด-19 อาดีร์พบว่า คนไข้ที่รับประทานอาหารน้อย น้ำหนักลดเยอะ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักกว่าคนที่รับประทานอาหารได้มากกว่า และเสี่ยงที่จะต้องรับออกซิเจน

“ทางเราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนไข้ได้รับสารอาหาร แคลอรี และโปรตีน ตามที่ร่างกายต้องการค่ะ”

อาหารคือยา

อาดีร์เลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์การโภชนาการในระดับปริญญาตรี หลังจากที่ได้ลองเป็นอาสาสมัครทำงานกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้เธอค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จนได้พบข้อมูลด้านโภชนาการ

“เด็กกลุ่มนี้จะมาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยมีความรู้ที่ถูกต้องในด้านโภชนาการค่ะ เพราะที่บ้านพวกเขา เขาทานแต่ของที่มีน้ำตาลเยอะ ๆ ผักผลไม้เขาจะไม่ค่อยทานค่ะ”

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

อาดีร์เลือกเรียนวิทยาศาสตร์การโภชนาการในระดับปริญญาตรี หลังจากที่ได้ลองเป็นอาสาสมัครทำงานกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

อาดีร์จึงเสนอแนวคิดกับทางคุณครูว่า ให้ลองทำสลัดให้เด็ก ๆ รับประทานตอนมื้อกลางวัน เมื่อผ่านไปสามเดือน พบว่าเด็กนิ่งขึ้นและมีสมาธิมากขึ้น

“เราเลยค้นพบว่า อาหารมันสามารถมีผลได้ขนาดนี้เลยเหรอ ก็เลยเริ่มศึกษาค่ะ และพอมาดูคนในครอบครัวตัวเองก็ไม่เคยมีใครป่วยเลยค่ะ คุณทวดของอาดีร์ แกทานอาหารครบ 5 หมู่ในทุก ๆ มื้อ และออกกำลังโดยการผ่าฟืนทุกวัน ทั้งชีวิตของแกไม่เคยป่วยเลยค่ะ” อาดีร์เล่าถึงคุณทวดที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 96 ปี

เธอจึงเริ่มหาความรู้เรื่อยมา โดยเฉพาะการทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะสามารถที่จะป้องกันโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ

ล่ามช่วยแรงงานไทย

การจะเป็นนักกำหนดอาหารในอิสราเอลนั้น ต้องผ่านการฝึกงาน 6 เดือน และต้องผ่านการสอบขอใบประกอบวิชาชีพจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระบวนการนี้เธอต้องรอนานถึง 2 ปี หลังเรียนจบ

ระหว่างนี้เองที่เธอได้ลองค้นหาตัวเองจากการทำงานหลายอย่าง ทั้งการเป็นผู้จัดการชุมชนชาวไทยของบริษัทด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งจากนั้นก็ได้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของกูเกิล แต่ “เหมือนมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ”

จนกระทั่งได้สมัครมาทำงานล่ามให้กับ คาฟ ลาโอเวด (Kav LaOved) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานหลากหลายสัญชาติในอิสราเอล “เนี่ยแหละค่ะ มาเจอว่าแรงปรารถนาของเราคือการช่วยเหลือคน” อาดีร์กล่าว

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

อาดีร์ลงพื้นที่พบปะแรงงานไทยสมัยที่ทำงานกับองค์กร คาฟ ลาโอเวด

จากนั้นเธอก็ได้เริ่มฝึกงานด้านโภชนาการไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งรู้สึกว่า ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกงานอย่างเต็มร้อย เธอจึงตัดสินใจลาออกจากองค์กรดังกล่าว และมาเปิดเพจเฟซบุ๊กของตัวเองเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยด้วยประสบการณ์ที่ทำงานกับองค์กรด้านแรงงานแห่งนี้มานาน 1 ปีครึ่ง

“คนงานไทยชอบฟังไลฟ์มากเลย ขอให้มีการไลฟ์ engagement (การมีส่วนร่วม) นี่สูงมาก” อาดีร์เล่าว่า ยอดเข้าชมคลิปของเธอส่วนใหญ่จะมากกว่า 10,000 ครั้งไปจนถึงกว่า 20,000 ครั้ง

ที่มาของภาพ, อาดีร์ ล่ามอิสระแปล ไทย-ฮีบรู/FACEBOOK

ในช่วงเวลาเดียวกันเธอก็ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารการเป็นผู้นำและสาธารณสุขโลก (Leadership Administration and Global Health) ในเมืองไฮฟาที่เธอพักอาศัยอยู่ในขณะนี้ด้วย

“ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร”

อาดีร์ย้ำกับแรงงานไทยที่เข้ามาปรึกษาเสมอว่า เธอเป็นเพียงล่าม ไม่ใช่ทนายความ และข้อมูลอาจผิดพลาดได้ แต่เธอบอกว่า เมื่อจะพูดเรื่องอะไร เธอจะยืนยันกับทนายความก่อน

อาดีร์เล่าว่า งานที่เธอต้องทำเป็นหลักเมื่อรับสายจากแรงงานคือ การทำให้แรงงานที่วิตกกังวลและลนลานให้ใจเย็นลง จากนั้นจึงค่อยลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เธอหมั่นแจ้งต่อแรงงานไทยคือการลงชื่อในเอกสาร

ที่มาของภาพ, อาดีร์ ล่ามอิสระแปล ไทย-ฮีบรู/FACEBOOK

แรงงานไทยมักจะเผชิญปัญหาการถูกนายจ้างบังคับหรือโน้มน้าวให้เซ็นเอกสารโดยที่ไม่รู้ว่าคือเอกสารอะไร ทำให้หลายคนต้องเสียสิทธิที่ควรได้ เช่น เงินชดเชยการเลิกจ้าง และเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เธอบอกว่า วิธีการง่าย ๆ เมื่อพบปัญหานี้คือ ให้เขียนลงไปในเอกสารนั้นเป็นภาษาไทยเลยว่า “ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร โดนบังคับให้เซ็น”

อีกปัญหาหนึ่งที่เธอพบคือ นายจ้างมีสลิปเงินเดือนให้ลูกจ้าง จ่ายเงินตามสิทธิต่าง ๆ ให้ลูกจ้างครบ แต่ชั่วโมงการทำงานไม่ตรงกับความเป็นจริง

“นายจ้างเอากระดาษเปล่ามาให้คนงานเซ็น แล้วเหมือนกับว่า เอากระดาษนี้ไปเขียนชั่วโมง ตามสลิปเอง สมมุติว่าคนงานทำงาน 300 ชั่วโมง อาจจะระบุในสลิปเงินเดือนแค่ 182 ชั่วโมง”

ปรับทัศนคติ “แล้วแต่เวรแต่กรรม”

แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกหลอก มักจะปลอบใจตัวเองว่า “ช่างมัน แล้วแต่เวรแต่กรรม” ซึ่งอาดีร์เห็นว่า ไม่ควรที่ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม ทำให้เธอต้องพยายามปรับทัศนคติของแรงงานไทยในเรื่องนี้ ให้พวกเขามีความมั่นใจ และไขว่คว้าหาความรู้เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ อาดีร์จึงเตือนให้แรงงานรู้จักการจดบันทึกชั่วโมงการทำงานของตัวเอง

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

อาดีร์กับแรงงานไทยที่เธออาสาให้คำปรึกษา

“อุดมการณ์ของอาดีร์คือ สอนคนงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบ สอนเขาให้รู้จักถามคำถาม สอนเขาให้กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ” เธอบอกว่า ต้องสอนแรงงานให้รู้จักตกปลาดีกว่าให้ปลากับพวกเขา

งานเหล่านี้เป็นงานอาสา แต่เธอจะมีรายได้เข้ามาก็ต่อเมื่อแรงงานที่มีข้อพิพาทกับนายจ้างตัดสินใจฟ้องร้อง ซึ่งเธอจะเป็นคนอำนวยความสะดวกในการจัดหาทนายความ แปลเอกสารทุกอย่าง และเดินเรื่องต่าง ๆ ให้ โดยคิดราคาเหมาจ่ายตามอายุงานซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 ปี เธอคิดค่าบริการ 2,800 เชเกล หรือประมาณ 25,700 บาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการช่วยโฆษณาสินค้าหรือบริการตามที่มีผู้ว่าจ้างผ่านทางเพจของเธอ

“คนไทยคนแรก”

อาดีร์เล่าว่า เธอได้รับการปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นมาจากคุณยายที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็ก เธอเกิดและโตที่กรุงเทพฯ จนถึงอายุ 15 ปี ทางครอบครัวจึงได้ส่งมาอิสราเอล เพราะเธอได้เข้าร่วมโครงการ Naale Elite Academy ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้วัยรุ่นที่มีเชื้อสายยิวในต่างประเทศมาเรียนที่ประเทศอิสราเอล เพื่อจูงใจให้พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่นั่น

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

อาดีร์ (คนขวามือด้านหน้าสุด) กับเพื่อน ๆ สมัยมัธยมปลาย

“อาดีร์เป็นคนแรกที่มาจากเมืองไทยแล้วมาโปรแกรมนี้ ทุกอย่างฟรีหมดเลย จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้ด้วย มหาลัย ปริญญาตรีก็เรียนฟรีสองปีแรก แล้วพอดีเขามาตัดงบก็เลยไม่ได้เรียนฟรีทั้งปริญญาตรี” อาดีร์ เล่า

เธอได้เข้าโรงเรียนประจำ ได้อยู่กับเพื่อนที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิวจำนวนมาก เธอเล่าบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนที่นี่ว่าต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง ตอนเรียนที่ไทยเธอมักจะถูกลงโทษเป็นประจำ “กัญญพชร เธอเถียงครูเหรอ อะไรอย่างเงี้ย คือโดนประจำค่ะ” ตรงกันข้ามกับการเรียนที่อิสราเอล

“เราเถียงกับอาจารย์ได้เลยว่าทำไมเราถึงคิดว่า อาจารย์พูดไม่ถูก นี่คือแบบเป็นสิ่งที่รักมาก ในการเรียนที่ประเทศอิสราเอล คือ เขาสอนให้เราคิดอะ เขาสอนให้เรามีความคิดเห็น แล้วเขาสอนให้เราไม่กลัวที่จะแย้งอะค่ะ” อาดีร์เล่า

ปัจจุบัน อาดีร์ต้องการทำงานทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป แต่ความฝันที่ไกลกว่านั้นของเธอคือ การได้ทำงานกับองค์กรด้านมนุษยธรรมระดับโลก เช่น สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก หรือโครงการอาหารโลก

“อยากจะไปอยู่ในตำแหน่งอะไรก็ได้ที่ทำแล้วเกิดผล ที่เราจะสามารถช่วยคนได้แบบเยอะ ๆ ไม่ว่าจะช่วยในด้านสุขภาพ หรือช่วยในด้านสิทธิมนุษยชน เป้าหมายของอาดีร์คือ อาดีร์อยากจะเปลี่ยนโลกให้มันน่าอยู่ขึ้น”

ที่มาของภาพ, Kanyapat Adi Bachar

คำบรรยายภาพ,

ปัจจุบัน อาดีร์ต้องการทำงานทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป แต่ความฝันที่ไกลกว่านั้นของเธอคือ การได้ทำงานกับองค์กรด้านมนุษยธรรมระดับโลก

เลย

เลย

เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด

Next Post

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.