- เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ผู้คนหลายล้านเจ็บป่วยล้มตาย ในอีกมุมหนึ่งของโลก นักกำหนดอาหารหญิงไทย (dietitian) คนหนึ่ง มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิดที่เป็นผู้สูงอายุ ในอิสราเอล ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนนำหน้าประเทศอื่นอยู่ในขณะนี้ เธอบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า “โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ” ร่วมด้วย
นอกจากนี้ กัญญพชร อาดีร์ บาคาร์ ลูกครึ่งไทย-อิสราเอล ยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งทุ่มเทให้กับการทำงานช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อาดีร์ ล่ามอิสระแปลไทย-ฮีบรู” โดยหวังว่า จะช่วยคนงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบ และรู้จักต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง
“เพื่อนร่วมงานของอาดีร์ทุกคนมีลูก มีสามี มีครอบครัวกันหมด อีกคนหนึ่งก็เพิ่งจะแต่งงาน เพิ่งจะตั้งท้อง อาดีร์ก็เลยอาสาเพราะว่าเป็นคนเดียวที่อยู่บ้านคนเดียว” อาดีร์ เล่าถึงที่มาของการได้เข้าไปทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์การแพทย์โดโรตเพื่อการฟื้นฟูและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Dorot – Medical Center for Rehabilitation and Geriatrics) ในเมืองนาตาเนีย (Netanya)
กลัวแต่จำเป็น
ช่วงที่เธอเริ่มเข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้สูงอายุเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว อิสราเอลกำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง แต่เธอเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในเดือน เม.ย. ซึ่งช่วงนั้นผู้คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่มาก ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้ให้นักกำหนดอาหารเข้าไปดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์และพยาบาล แต่เมื่อการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น เธอก็ได้รับภารกิจสำคัญที่เธอ “รู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ”
“กลัวก็กลัวค่ะ แต่คิดว่า พีพีอี ก็ใช้ได้” เธอเชื่อมั่นในการใช้งานชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ พีพีอี ประกอบกับนักระบาดวิทยาที่คอยตรวจสอบให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดจึงทำให้รู้สึกอุ่นใจมากยิ่งขึ้น
“เขามาช่วยตรวจสอบเราตลอดว่า เราป้องกันถูกต้องไหม เราใส่อุปกรณ์ป้องกันถูกต้องไหม เวลาถอด เราถอดแบบถูกต้องไหม คือมีการดูในกล้องเลยค่ะว่า เราถอดตามขั้นตอนเป๊ะ ๆ ไหม แล้วพอเราถอดมาปุ๊บ ต้องรีบไปอาบน้ำค่ะ” แต่ถึงจะมีการคุมเข้มเรื่องการป้องกัน แต่เธอก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิดได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
“โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ”
นักกำหนดอาหารวัย 30 ปี เล่าว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 สูงวัยที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลของเธอ ส่วนใหญ่น้ำหนักตัวลดลง 5-10 กิโลกรัม ภายในเวลาเดือนเดียว งานของเธอจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดอาหารเสริมที่ให้ทั้งพลังงานและโปรตีนอย่างเพียงพอ การตรวจสอบปัญหาในการกลืนอาหารของคนไข้ รวมถึงการโน้มน้าวคนไข้ให้กินอาหารให้ได้ตามปริมาณที่ควรจะเป็น
อาดีร์ได้เข้าร่วมการประชุมสมาคมโภชนาการคลินิกและกระบวนการเผาผลาญแห่งยุโรป (The European Society for Clinical Nutrition and Metabolism — ESPEN) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด_19 เธอเล่าว่า ทุกคนต่างมีข้อมูลตรงกันว่า ผู้ป่วย “น้ำหนักลดเร็วมาก มีโอกาสขาดสารอาหารเยอะมาก” และสรุปว่า “โควิดเป็นโรคทางโภชนาการ” ร่วมด้วย
นักกำหนดอาหารคือใคร
นักกำหนดอาหารเป็นอาชีพที่ได้รับการรับรองในการทำหน้าที่ประเมิน วินิจฉัย และรักษา ปัญหาด้านโภชนาการและการควบคุมอาหาร พวกเขาทำงานกับทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ป่วย นักกำหนดอาหารนำความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย โดยนักกำหนดอาหารจะใช้งานวิจัยเกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ และโรคภัยไข้เจ็บ ที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในการให้คำแนะนำผู้คนให้ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและอาหารการกินให้สอดคล้อง
จากประสบการณ์ในการทำงานที่แผนกผู้ป่วยโควิด-19 อาดีร์พบว่า คนไข้ที่รับประทานอาหารน้อย น้ำหนักลดเยอะ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักกว่าคนที่รับประทานอาหารได้มากกว่า และเสี่ยงที่จะต้องรับออกซิเจน
“ทางเราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนไข้ได้รับสารอาหาร แคลอรี และโปรตีน ตามที่ร่างกายต้องการค่ะ”
อาหารคือยา
อาดีร์เลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์การโภชนาการในระดับปริญญาตรี หลังจากที่ได้ลองเป็นอาสาสมัครทำงานกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้เธอค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จนได้พบข้อมูลด้านโภชนาการ
“เด็กกลุ่มนี้จะมาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยมีความรู้ที่ถูกต้องในด้านโภชนาการค่ะ เพราะที่บ้านพวกเขา เขาทานแต่ของที่มีน้ำตาลเยอะ ๆ ผักผลไม้เขาจะไม่ค่อยทานค่ะ”
อาดีร์จึงเสนอแนวคิดกับทางคุณครูว่า ให้ลองทำสลัดให้เด็ก ๆ รับประทานตอนมื้อกลางวัน เมื่อผ่านไปสามเดือน พบว่าเด็กนิ่งขึ้นและมีสมาธิมากขึ้น
“เราเลยค้นพบว่า อาหารมันสามารถมีผลได้ขนาดนี้เลยเหรอ ก็เลยเริ่มศึกษาค่ะ และพอมาดูคนในครอบครัวตัวเองก็ไม่เคยมีใครป่วยเลยค่ะ คุณทวดของอาดีร์ แกทานอาหารครบ 5 หมู่ในทุก ๆ มื้อ และออกกำลังโดยการผ่าฟืนทุกวัน ทั้งชีวิตของแกไม่เคยป่วยเลยค่ะ” อาดีร์เล่าถึงคุณทวดที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 96 ปี
เธอจึงเริ่มหาความรู้เรื่อยมา โดยเฉพาะการทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะสามารถที่จะป้องกันโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ
ล่ามช่วยแรงงานไทย
การจะเป็นนักกำหนดอาหารในอิสราเอลนั้น ต้องผ่านการฝึกงาน 6 เดือน และต้องผ่านการสอบขอใบประกอบวิชาชีพจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระบวนการนี้เธอต้องรอนานถึง 2 ปี หลังเรียนจบ
ระหว่างนี้เองที่เธอได้ลองค้นหาตัวเองจากการทำงานหลายอย่าง ทั้งการเป็นผู้จัดการชุมชนชาวไทยของบริษัทด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งจากนั้นก็ได้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของกูเกิล แต่ “เหมือนมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ”
จนกระทั่งได้สมัครมาทำงานล่ามให้กับ คาฟ ลาโอเวด (Kav LaOved) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานหลากหลายสัญชาติในอิสราเอล “เนี่ยแหละค่ะ มาเจอว่าแรงปรารถนาของเราคือการช่วยเหลือคน” อาดีร์กล่าว
จากนั้นเธอก็ได้เริ่มฝึกงานด้านโภชนาการไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งรู้สึกว่า ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกงานอย่างเต็มร้อย เธอจึงตัดสินใจลาออกจากองค์กรดังกล่าว และมาเปิดเพจเฟซบุ๊กของตัวเองเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยด้วยประสบการณ์ที่ทำงานกับองค์กรด้านแรงงานแห่งนี้มานาน 1 ปีครึ่ง
“คนงานไทยชอบฟังไลฟ์มากเลย ขอให้มีการไลฟ์ engagement (การมีส่วนร่วม) นี่สูงมาก” อาดีร์เล่าว่า ยอดเข้าชมคลิปของเธอส่วนใหญ่จะมากกว่า 10,000 ครั้งไปจนถึงกว่า 20,000 ครั้ง
ในช่วงเวลาเดียวกันเธอก็ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารการเป็นผู้นำและสาธารณสุขโลก (Leadership Administration and Global Health) ในเมืองไฮฟาที่เธอพักอาศัยอยู่ในขณะนี้ด้วย
“ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร”
อาดีร์ย้ำกับแรงงานไทยที่เข้ามาปรึกษาเสมอว่า เธอเป็นเพียงล่าม ไม่ใช่ทนายความ และข้อมูลอาจผิดพลาดได้ แต่เธอบอกว่า เมื่อจะพูดเรื่องอะไร เธอจะยืนยันกับทนายความก่อน
อาดีร์เล่าว่า งานที่เธอต้องทำเป็นหลักเมื่อรับสายจากแรงงานคือ การทำให้แรงงานที่วิตกกังวลและลนลานให้ใจเย็นลง จากนั้นจึงค่อยลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เธอหมั่นแจ้งต่อแรงงานไทยคือการลงชื่อในเอกสาร
แรงงานไทยมักจะเผชิญปัญหาการถูกนายจ้างบังคับหรือโน้มน้าวให้เซ็นเอกสารโดยที่ไม่รู้ว่าคือเอกสารอะไร ทำให้หลายคนต้องเสียสิทธิที่ควรได้ เช่น เงินชดเชยการเลิกจ้าง และเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เธอบอกว่า วิธีการง่าย ๆ เมื่อพบปัญหานี้คือ ให้เขียนลงไปในเอกสารนั้นเป็นภาษาไทยเลยว่า “ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร โดนบังคับให้เซ็น”
อีกปัญหาหนึ่งที่เธอพบคือ นายจ้างมีสลิปเงินเดือนให้ลูกจ้าง จ่ายเงินตามสิทธิต่าง ๆ ให้ลูกจ้างครบ แต่ชั่วโมงการทำงานไม่ตรงกับความเป็นจริง
“นายจ้างเอากระดาษเปล่ามาให้คนงานเซ็น แล้วเหมือนกับว่า เอากระดาษนี้ไปเขียนชั่วโมง ตามสลิปเอง สมมุติว่าคนงานทำงาน 300 ชั่วโมง อาจจะระบุในสลิปเงินเดือนแค่ 182 ชั่วโมง”
ปรับทัศนคติ “แล้วแต่เวรแต่กรรม”
แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกหลอก มักจะปลอบใจตัวเองว่า “ช่างมัน แล้วแต่เวรแต่กรรม” ซึ่งอาดีร์เห็นว่า ไม่ควรที่ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม ทำให้เธอต้องพยายามปรับทัศนคติของแรงงานไทยในเรื่องนี้ ให้พวกเขามีความมั่นใจ และไขว่คว้าหาความรู้เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ อาดีร์จึงเตือนให้แรงงานรู้จักการจดบันทึกชั่วโมงการทำงานของตัวเอง
“อุดมการณ์ของอาดีร์คือ สอนคนงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบ สอนเขาให้รู้จักถามคำถาม สอนเขาให้กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ” เธอบอกว่า ต้องสอนแรงงานให้รู้จักตกปลาดีกว่าให้ปลากับพวกเขา
งานเหล่านี้เป็นงานอาสา แต่เธอจะมีรายได้เข้ามาก็ต่อเมื่อแรงงานที่มีข้อพิพาทกับนายจ้างตัดสินใจฟ้องร้อง ซึ่งเธอจะเป็นคนอำนวยความสะดวกในการจัดหาทนายความ แปลเอกสารทุกอย่าง และเดินเรื่องต่าง ๆ ให้ โดยคิดราคาเหมาจ่ายตามอายุงานซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 ปี เธอคิดค่าบริการ 2,800 เชเกล หรือประมาณ 25,700 บาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการช่วยโฆษณาสินค้าหรือบริการตามที่มีผู้ว่าจ้างผ่านทางเพจของเธอ
“คนไทยคนแรก”
อาดีร์เล่าว่า เธอได้รับการปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นมาจากคุณยายที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็ก เธอเกิดและโตที่กรุงเทพฯ จนถึงอายุ 15 ปี ทางครอบครัวจึงได้ส่งมาอิสราเอล เพราะเธอได้เข้าร่วมโครงการ Naale Elite Academy ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้วัยรุ่นที่มีเชื้อสายยิวในต่างประเทศมาเรียนที่ประเทศอิสราเอล เพื่อจูงใจให้พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่นั่น
“อาดีร์เป็นคนแรกที่มาจากเมืองไทยแล้วมาโปรแกรมนี้ ทุกอย่างฟรีหมดเลย จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้ด้วย มหาลัย ปริญญาตรีก็เรียนฟรีสองปีแรก แล้วพอดีเขามาตัดงบก็เลยไม่ได้เรียนฟรีทั้งปริญญาตรี” อาดีร์ เล่า
เธอได้เข้าโรงเรียนประจำ ได้อยู่กับเพื่อนที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิวจำนวนมาก เธอเล่าบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนที่นี่ว่าต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง ตอนเรียนที่ไทยเธอมักจะถูกลงโทษเป็นประจำ “กัญญพชร เธอเถียงครูเหรอ อะไรอย่างเงี้ย คือโดนประจำค่ะ” ตรงกันข้ามกับการเรียนที่อิสราเอล
“เราเถียงกับอาจารย์ได้เลยว่าทำไมเราถึงคิดว่า อาจารย์พูดไม่ถูก นี่คือแบบเป็นสิ่งที่รักมาก ในการเรียนที่ประเทศอิสราเอล คือ เขาสอนให้เราคิดอะ เขาสอนให้เรามีความคิดเห็น แล้วเขาสอนให้เราไม่กลัวที่จะแย้งอะค่ะ” อาดีร์เล่า
ปัจจุบัน อาดีร์ต้องการทำงานทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป แต่ความฝันที่ไกลกว่านั้นของเธอคือ การได้ทำงานกับองค์กรด้านมนุษยธรรมระดับโลก เช่น สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก หรือโครงการอาหารโลก
“อยากจะไปอยู่ในตำแหน่งอะไรก็ได้ที่ทำแล้วเกิดผล ที่เราจะสามารถช่วยคนได้แบบเยอะ ๆ ไม่ว่าจะช่วยในด้านสุขภาพ หรือช่วยในด้านสิทธิมนุษยชน เป้าหมายของอาดีร์คือ อาดีร์อยากจะเปลี่ยนโลกให้มันน่าอยู่ขึ้น”