เผยแพร่: 23 พ.ค. 2566 10:35 ปรับปรุง: 23 พ.ค. 2566 10:35 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ เลย-เป็นอีกกรณีตัวอย่างของคำว่าสามัคคีคือพลัง ชาวบ้านในตำบลนาอาน จ.เลยกว่า300 คนช่วยกันสร้างสะพานไม้ไผ่ ยาว 150 เมตรข้ามแม่น้ำเลย แก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้คนมากถึง 7 หมู่บ้านที่ต้องผ่านเส้นทางนี้วันละนับพันคน ขณะที่เงินทุนมาจากการลงขันของชาวบ้านในท้องถิ่น ไม่ใด้ใช้งบรัฐแม้แต่สตางค์เดียวผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณบ้านติดต่อ ต.นาอาน อ.เมืองจังหวัดเลย กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 300 คน ทำการตัดไม้ไผ่และต้นไม้ยูคาลิปตัส นำไปทำเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเลยที่ยาวประมาณ 150 เมตรเสร็จภายในไม่กี่วัน เนื่องจากสะพานเก่าที่เป็นสะพานปูนนั้นอยู่ระหว่างการซ่อมแซม ตามกำหนดจะแล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ดังนั้นชาวบ้านสองหมู่บ้านและบ้านใกล้เคียงที่เดือดร้อนจากไม่มีสะพานใช้ ราว 7 หมู่บ้านในตำบลนาอาน และตำบลอื่นๆจึงมีมติร่วมกันสร้างสะพานไม้ใช้ไปพลางก่อนนายพัฒนา พลพิมพ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาอาน บอกว่า ชาวบ้านติดต่อและอีกหลายๆชุมชนในตำบลนาอานได้รวมตัวร่วมกันทำสะพานไม้ไผ่เพื่อข้ามแม่น้ำเลย โดยใช้เงินทุนจากการลงขันของชาวบ้านกันเอง ไม่ได้ใช้เงินของหน่วยงานราชการ โดยมีพระ เจ้าอาวาสวัดในพื้นที่ เป็นแกนนำชาวบ้านร่วมสมทบทุนและร่วมสร้าง ซึ่งในครั้งนี้ นายสถิต วิเศษสัตย์ เจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้พื้นที่ชั่วคราว ในการให้รถสัญจรไปมาผ่านในที่ดินของตน ขณะนี้สะพานแห่งนี้มีการสร้างเสร็จและใช้สัญจรไปมาได้แล้วสำหรับสะพานไม้ไผ่แห่งนี้ ทำด้วยไม้ยูคาและไม้ไผ่ มีความยาว 150 เมตร กว้าง 2 สูง 1 เมตร ใช้ไม้ยูคา 150 ต้น ใช้ไม้ไผ่ 500 ต้น สานขัดแบบโบราณ ซึ่งชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 9 ยกหมู่บ้านมาช่วยกันทั้งหมด 300 คนสลับกันทั้งวันทั้งคืน เมื่อสะพานสร้างเสร็จ รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถ 3 ล้อพวง รถเล็กสามารถเดินทางสัญจรไปมาหาสู่กันได้โดยบ้านติดต่อหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 9 และหมู่บ้านอื่นๆ จะมีคน ที่ใช้ถนนเส้นนี้โดยผ่านสะพานตัวนี้ ประมาณ 4,500-5,000 คน เฉลี่ยจำนวนรถที่ต้องสัญจรผ่านไปมา 1,000 – 2,000 คันต่อวันด้านพระครูสุวรรณ ธรรมมาทร เจ้าอาวาสวัดโพนงามบ้านติดต่อ กล่าวว่า หลังจากที่มีการปิดสะพาน เพียงหนึ่งวันก็เกิดปัญหาการสัญจรไปมาระหว่างคนในหมู่บ้านสองหมู่บ้านข้ามแม่น้ำเลย ไม่สามารถติดต่อกันได้ ต้องอ้อมไปอีก 3 หมู่บ้าน ไกลประมาณ 9-15 กิโลเมตร จนเกิดความลำบากทุกฝ่าย ตนซึ่งเป็นพระที่ทั้งสองหมู่บ้านนั้นมีความเคารพนับถือและมีทางผู้ใหญ่บ้าน ท้องที่ ท้องถิ่น ได้เข้ามาปรึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันที่ต้องสร้างสะพานไม้ไผ่ขึ้นมาแทนชั่วคราว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องนี้ โดยปรึกษากันในหลายฝ่ายและเพียงไม่กี่วันก็นำคนประมาณ 300 คนสลับกันมาทำสะพานแห่งนี้จนแล้วเสร็จชาวบ้านช่วยกันตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานรวมน้ำใจไทยติดต่อสามัคคี”