เผยแพร่: 22 มี.ค. 2566 07:34 ปรับปรุง: 22 มี.ค. 2566 07:34 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ เชียงราย – นักอนุรักษ์จวกยับ..รัฐบาลทิ้งทวนก่อนยุบสภาฯ ปล่อย กฟผ.เซ็นซื้อไฟฟ้าเขื่อนกั้นน้ำโขงใน สปป.ลาว ห่างเชียงคาน 100 กิโลฯ สวนทางไฟสำรองในประเทศที่มีมากกว่า 50% ทำคนไทยแบกค่าไฟเพิ่มหลังจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 20 มี.ค. 2566 บริษัท Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF และ SHK Sinohydro บริษัทในเครือ POWERCHINA รัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนปากลายได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) กับ กฟผ.นั้นนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังมากกับการทิ้งทวนก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลชุดนี้ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้ทักท้วงโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) หรือ PNPCA ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ MRCรวมทั้งได้ส่งหนังสือทักท้วงไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น รัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประธานกรรมการพลังงานแห่งชาติ กฟผ. และยังร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นที่ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้ เพราะมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเกินกว่า 50% ซึ่งการซื้อก็เป็นที่ทราบกันว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยแพงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยทุกคนที่ต้องรับภาระในระยะยาว”รู้สึกผิดหวังจริงๆ กับรัฐบาลนี้ที่ทิ้งทวนสร้างภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน การซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 2 เขื่อนในแม่น้ำโขง คือ เขื่อนปากลายและเขื่อนหลวงพระบาง ทำให้เกิดคำถามว่าใช่หรือไม่ที่รัฐบาลนี้หนุนและเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจพลังงานจนละเลยภาระการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะดูแลและควบคุมเมื่อเกิดสถานการณ์ค่าไฟฟ้าแพงสูงสุดในรัฐบาลนี้“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรรมการด้านนโยบายที่ดูเรื่องพลังงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ได้สนใจข้อทักท้วงของภาคประชาชนและฝ่ายต่างๆ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนแม้แต่น้อย” นายหาญณรงค์กล่าว และว่า ดังนั้นจึงขอเรียกร้องอีกครั้งว่าต้องมีการทบทวนการซื้อไฟฟ้าดังกล่าวและให้ชะลอหรือยกเลิก PPA ทั้ง 2 โครงการ รวมทั้งมีนโยบายดูแลประชาชนไม่ต้องรับภาระอุ้มธุรกิจพลังงานรวมถึงยกเลิกสัญญาที่ผูกมัดด้วยสำหรับ เขื่อนปากลาย กำลังมีการก่อสร้างที่แขวงไซยะบุรีห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 100 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 770 เมกะวัตต์ โดย GULF ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 และ SHK ถือหุ้นร้อยละ 60 มีระยะเวลาสัญญา 29 ปี อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 ม.ค. 2575ทั้งนี้ ก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎรทาง กฟผ.เคยมีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ชี้แจงคำถามเกี่ยวกับสถานะของเขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย แขวงอุดมไชย ว่ากรณีเขื่อนหลวงพระบางได้ลงนามซื้อขายพลังงานไฟฟ้าเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 และกรณีเขื่อนปากแบง-เขื่อนปากลายได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในปี 2558 และปี 2563 รวมทั้งอยู่ระหว่างทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเพิ่มอยู่ขณะที่เว็บไซต์ของ กฟผ.ระบุข้อมูลว่า ณ วันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งระบบ 49,114.80 เมกะวัตต์ ส่วนความต้องการสูงสุดในเดือนเดียวกัน (12 ม.ค. 2566) มีค่าเท่ากับ 25,895.60 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 1,229.10 เมกะวัตต์ หรือลดลงร้อยละ 4.53%