‘ชัยชนะ’ ส.ส.ปชป. จี้ ‘ประยุทธ์’ เด็ดขาดแก้ไขปัญหา เสนอ 5 แนวทาง ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ สกัดโควิด-19 ชี้ติดเชื้อพุ่งทุกวัน เตียงไม่พอแน่
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อทะลุเกิน 2,000 รายไปแล้วว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้นำเสนอแนวทางมาตรการเพื่อป้องกันการระบาด และเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีว่าให้ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมทำเพราะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจว่าจะส่งผลให้แย่ลงจากเดิม ซึ่งจากวันนั้นมาถึงวันนี้ ตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และไม่มีท่าทีว่าจะลดลงได้เลยถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลสนามที่รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้แต่ละจังหวัดที่มีอยู่ไม่น่าจะเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยในอนาคต
นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอ 5 แนวทาง ให้นายกรัฐมนตรีลองพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังนี้ 1.ดำเนินการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยห้ามเดินทางข้ามในแต่ละจังหวัด เป็นเวลา 15 วัน รวมทั้งออกประกาศห้ามประชาชนรวมกลุ่มตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และไม่ออกจากเคหสถานตั้งแต่ห้าทุ่มถึงตีสี่ 2.ไทม์ไลน์กลุ่มที่เสี่ยงในแต่ละจังหวัดต้องมีความชัดเจนและตรวจสอบย้อนหลังไปยังบุคคลที่สัมผัสได้ 3.ให้แต่ละท้องถิ่นเตรียมพร้อมสถานที่สำหรับกักตัว ในแต่ละพื้นที่นั้นๆ 4.เร่งตรวจเชื่อบุคคลที่สุ่มเสี่ยงทุกระดับ และ5.ผลักดันเงินเยียวยาให้ออกมาเร็วขึ้น
“ผมถือว่ามาตรการที่ทางผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับเงิน 20,000 บาท หากไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปสถานที่สาธารณะ การห้ามข้าราชการหรือพนักงานของรัฐเดินทางข้ามจังหวัดและงดจัดงานสัมมนา การกำหนดเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน เป็นต้น ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่แต่ละจังหวัดไม่นิ่งเฉยและพร้อมที่จะหามาตรการใหม่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดภายในจังหวัด”
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อระงับยับยั้งการระบาด ถึงแม้ว่าจะออกมาชี้แจงผ่านทางโทรทัศน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็ตาม ดังนั้น ตนเห็นว่า ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการกลับไปใช้มาตรการการล็อกดาวน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ แต่ชีวิตมนุษย์ก็ถือว่ามีความสำคัญในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวดังเดิมได้