วงการเพลงลูกทุ่งพบกับการสูญเสียอีกครั้ง เมื่อต้องสิ้นบรมครูนักแต่งเพลงชื่อดัง “ครูฉลอง ภู่สว่าง” ในวัย 83 ปีจากอาการป่วยโรคมะเร็ง ตลอดชีวิตสร้างนักร้องเพลงลูกทุ่งมากมาย โดยจะมีการตั้งศพสวดที่บ้านในตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักจดหมายเหตุและนักวิชาการเพลงไทยลูกทุ่ง โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ด่วนสุดๆ…ด่วนจนช็อกชาไปทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยครับ พี่น้องพ่อแม่มิตรรักแฟนเพลงที่รักและเคารพยิ่ง ผมได้รับข่าวสารจากพี่เปี๊ยก นพดล แจ้งมาว่า ฅรูฉลอง ภู่สว่าง อายุ ๘๓-๘๔ ปี ป่วยโรคมะเร็ง จากไปอย่างสงบที่บ้าน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งศพสวดที่บ้านนะครับ มิใช่ที่วัด บ้านเลขที่ ๑๑๑/๑ หมู่ ๑ ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ผมกลืนน้ำลายลงคออย่างยากลำบาก เปลี่ยนแผนกะทันหัน เดิมทีวันนี้ รายการข้าวเกรียบเพลงเก่า/เสียงศิลปิน ผมวางเอาไว้แล้วว่าจะจัดอย่างไร ทุกอย่างยกเลิกทันทีเมื่อได้รับทราบข่าวนี้
บรมฅรูฉลอง ภู่สว่าง ฅนปิดทองหลังพระที่สมถะที่สุด เรียบง่ายที่สุด และไม่ง้อรางวัลเกียรติยศอย่างศิลปินแห่งชาติ เพราะ ชาติ มัวมะงุมมะงาหราจนฅรูบาอาจารย์ระดับปราชญ์ของแผ่นดินสิ้นใจไปจนแทบจะหมดวงการแล้ว ชาติ ก็ยังมองไม่เห็น ยังไม่ตระหนักในคุณค่าที่แต่ละท่านได้สร้างสรรค์งานมาเป็นเวลาช้านาน
ท่านผู้รักเพลงลูกทุ่งทุกท่านครับ ท่านรู้จัก ฅรูฉลอง ภู่สว่าง ไหมครับ? ท่านทราบมั้ยว่าผลงานเพลงของท่านมีเพลงอะไรบ้าง? ถ้าท่านทราบอย่าช้าเลยครับ รีบช่วยกันแนะนำผลงานเพลงของท่านที่ท่านประพันธ์เอาไว้กล่อมใจกล่อมแผ่นดินชนบทไทยให้เรืองรองผ่องผุดมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ บ่าย ๒ โมงวันนี้ เราจะมาช่วยกัน คืนบรมฅรูฉลอง ภู่สว่าง ให้ท่านไปอยู่ในภพภูมิที่เหมาะควร ด้วยการฟังเพลงจากลายมือของท่านทั้งรายการ อย่าพลาดติดตามนะครับ ฉลอง ภู่สว่าง ตายแล้ว!!!!! ฅรูของฅนลูกทุ่งจากไปอีก ๑ ท่านแล้วครับ”
สำหรับครูฉลอง ภู่สว่าง เป็นคนเขียนเพลงลูกทุ่งที่เก่งที่สุดในวงการคนหนึ่ง ครูฉลองจะเก่งมากในเรื่องของการประชดผู้หญิง แดกดันผู้ชาย โดยเอาบรรยากาศของบ้านเมืองมาใส่ ทำให้ผู้ฟังนั้นฟังแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวของคนในเพลงนั้นเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ก็อย่างเพลง “ปูไข่ไก่หลง” ที่ครูฉลองเขียนให้ชายธง ทรงพล ร้อง “ช่างเถอะคนงาม ขอปล่อยตาม ตามวาสนา พี่ไม่มีปริญญา ขวัญตามองหน้าทำเมิน ลืมได้ลืมไป ลืมไปลืมได้ก็เชิญ พี่จนคนไร้เงิน เดินย่ำต๊อกน้องบอกว่าโซ..” นอกจากเพลงนี้ยังมี “ไก่นาตาฟาง” จีระพันธ์ วีระพงษ์ “คนดังลืมหลังควาย” (อันนี้พุ่มพวงร้อง) “คุณนายโรงแรม” ที่ร้องโดย ระพิน ภูไท
ครูฉลอง ภู่สว่าง นั้นเป็นคนที่มีสัมผัสในทางโปรดิวเซอร์ที่สูงมากว่ากันว่าถ้าเทียบกันก็ต้องขนาด เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ เพราะสามารถปั้นกระเป๋ารถเมล์อย่าง จีระพันธ์ วีระพงษ์ ให้โด่งดังได้จากเพลง “ไก่นาตาฟาง” สร้างให้เด็กอู่ซ่อมรถอย่าง ศรชัย เมฆวิเชียร ขึ้นมาเป็นนักร้องดังเช่นเดียวกับทำให้ระพิน ภูไท ดังได้อีกเหมือนกัน โดยว่ากันว่าระพินไม่มีแววอะไรเลยนอกจากเมาไปวันๆ
ในระยะที่ครูฉลอง ภู่สว่าง มีชื่อเสียงได้มีคนไปมาหาสู่มาก บางคนมาขอความรู้จากเพลง บางคนมาฝึกร้องเพลง โดยเริ่มจากเลียนแบบนักร้องที่มีชื่อเสียงจนมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง นักร้องที่มีชื่อเสียงที่มาหาครูฉลอง ภู่สว่าง อยู่เสมอคือ ศรชัย เมฆวิเชียร, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, สุนารี ราชสีมา, แจ๊ค ธนพล ครูฉลอง ภู่สว่างแต่งเพลง “ดื่มให้ลืมแฟน” บางคนมาถามครูฉลองว่าการแต่งเพลงเริ่มเขียนอะไรก่อน ครูฉลองเล่าว่า การแต่งเพลงเหมือนละครที่ยาวมากที่เกิดขึ้นมาไม่รู้กี่ปี เรานำเรื่องมาย่อจนจบ ตอนจบเราจะให้จบแบบไหน เพลงแต่ละเพลงเหมือนละครเรื่องหนึ่ง เรานำมาสรุปให้เหลือนิดเดียว บางเพลงให้จบพร้อมชื่อเพลงให้ได้ เช่น เพลง “จำกันบ่ได้ก๋า” จะแต่งเพลงใดให้ใครร้องต้องศึกษาบุคลิกนักร้องก่อน เช่น นันทิดา แก้วบัวสาย ไปชนะการประกวดการร้องเพลงที่ต่างประเทศ เพชรา เชาวราษฎร์ ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์และเชิญครูฉลอง ภู่สว่าง ไปเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์ให้ได้ทั้งหมด หลังจากแต่งเพลง วันที่จะบันทึกแผ่นเสียงครูฉลองจะไปร้องเพลงที่ครูแต่งให้ฟังก่อน ทั้งการเอื้อนจังหวะดนตรี เคาะจังหวะไปให้ ทำเข้าอินโทรไปให้หมด ร้องเสร็จจะรับอย่างไร
ในปี พ.ศ.2523 ครูฉลองแต่งเพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้อง และปี 2525, 2526, 2527 ห้างอโซน่ามาขอซื้อลิขสิทธิ์ให้พุ่มพวงร้อง บันทึกเทปวางจำหน่าย ร้องเพลงคู่กันเพลงหนึ่ง เขียนให้พุ่มพวงร้อง อีกเพลงหนึ่งเขียนให้นักร้องชายร้อง เนื้อเพลงขึ้นต้นว่า… “นึกไว้แล้วๆ เชียว ว่า… นึก….ทุกอย่างคนงามๆ สักวันก็ลืมด้ามเคียว” ส่วนเพลงทำนองเดียวกับเพลงนี้ให้ชื่อว่า คนดังลืมหลังควาย บันทึกแล้วดังเปรี้ยง
ส่วนประวัติ ครูฉลอง เกิดเมื่อ พ.ศ.2481 ที่จังหวัดสมุทรสาคร บิดาชื่อ นายเหลือบ ภู่สว่าง มารดาชื่อ นางหนู ภู่สว่าง พี่น้อง 4 คน ชาย 3 คน หญิง 1 คน ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับคุณสมบูรณ์ ภู่สว่าง มีบุตรด้วยกัน 2 คน ฐานะทางครอบครัวยากจนเรียนได้เพียงชั้น ป.3 ก็ต้องออกมาทำงานบ้านอยู่ 2 ปีจึงกลับไปเรียนจนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนเมืองสมุทรสาครเป็นคนเรียนเก่ง แต่ต้องออกมารับจ้างเดินเรือขนส่งเกลือไปขายที่กรุงเทพฯ โดยนอกจากจะเป่าแซ็กโซโฟนได้แล้ว เจ้าตัวยังได้ชื่อว่าเป็นคนร้องเพลงดีคนหนึ่ง ซึ่งหากมีการประกวดร้องเพลงที่ไหนเป็นต้องเข้าร่วมด้วยเสมอ
ด้วยความรักในเสียงดนตรีทำให้เจ้าตัวมีโอกาสไปอยู่วงดนตรีทหารเรือนานกว่า 2 ปี และไปอยู่กับวงดนตรีคณะรำวงดาราน้อยที่ชลบุรีนานกว่า 5 ปี ต่อด้วยวงดนตรี “พนม นพพร” และวงดนตรีของ “บุปผา สายชล”
“ครูฉลอง” เริ่มเขียนเพลงอย่างจริงๆ จังๆ เมื่ออายุ 21 ปี โดยเพลงแรกที่อัดแผ่นเสียงก็ดังเลยชื่อเพลง “ลาก่อนความโกหก” ร้องโดยนักร้องชื่อบุญมี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นระพิน ภูไท)
จากนั้นเจ้าตัวก็ได้แต่งเพลงออกมาอีกมากมายรวมกว่า 200 เพลงให้กับนักร้องดังหลายต่อหลายคน อาทิ จีระพันธ์ วีระพงษ์, ศรชัย เมฆวิเชียร, ระพิน ภูไท, สุนารี ราชสีมา, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ จนคนในวงการเพลงลูกทุ่งต่างยกย่องให้เป็น “คีตกวีเพลงลูกทุ่งแห่งมหาชัย”
สำหรับบทเพลงจากการสร้างสรรค์ของ “ครูฉลอง” ที่เป็นที่คุ้นหูกันดีก็มีทั้ง คุณนายโรงแรม, เอาคำว่ารักของเธอคืนไป, คนจนเป็นอย่างไร, คิดถึงพี่หน่อย, ไก่นาตาฟาง, ปูไข่ไก่หลง, คนดังลืมหลังควาย, จำกันบ่ได้ก๋า ฯลฯ
ทั้งนี้ จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ในการเขียนเนื้อเพลงของ “ครูฉลอง” นอกจากเนื้อหาที่ประชดประชันผู้หญิง แดกดันผู้ชาย ก็คือการเอาบรรยากาศของบ้านเมืองมาใส่ ทำให้เพลงนั้นๆ มีชีวิตและมีเรื่องราวที่ดูเป็นจริงนั่นเอง.