กระทรวงสาธารณสุข เผยประสานกัมพูชาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ติดตามผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทยแล้ว หลังตำรวจพบสัญญาณโทรศัพท์มือถือข้ามแดนไปแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 2 ราย อยู่ระหว่างรอผล 17 ราย ตรวจเชิงรุก 142 ราย พบมีอาการ 6 ราย ผลไม่พบเชื้อ 5 ราย ออกนอกประเทศ 1 ราย ย้ำโรคไม่ได้ติดต่อง่ายแบบโควิด เน้นเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่สัมผัสผู้ที่มีตุ่มผื่น
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้ากรณีโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่า หลังจากรายงานยืนยันว่าชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี เป็นผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทย การติดตามผู้สัมผัสพบว่า มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง 19 ราย ไม่มีอาการป่วย ส่งสิ่งส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั้งหมดแล้ว ผลออกมาไม่พบเชื้อ 2 รายอยู่ระหว่างการตรวจและรอผลอีก 17 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 14 ราย ส่วนการค้นหาเชิงรุกมีจำนวน 142 ราย ไม่พบอาการผื่นสงสัย แต่มีอาการอื่นๆ คือ ไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 6 ราย ส่งตรวจแล้ว 5 ราย ผลออกมาไม่พบเชื้อ ไปต่างประเทศ 1 ราย
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับชายชาวไนจีเรียที่เป็นผู้ป่วยฝีดาษวานรที่พบรายแรก ได้รับแจ้งจากทางตำรวจและสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตว่า พบสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ชายแดนประเทศกัมพูชา ค่อนข้างชัดเจนว่าหลบหนีออกทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเราประสานไปยังทางการกัมพูชาแล้วในการติดตามผู้ป่วยรายดังกล่าว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วที่มีความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ส่วนข้อกังวลว่าผู้ป่วยรายนี้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างหรือไม่นั้น ขอย้ำว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายอย่างโควิด การติดต่อต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ และอาการโรคส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรุนแรง ซึ่งมาตรการป้องกันตนเองจากโควิด ยังสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการสัมผัสผู้ที่มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามผิวหนัง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
“องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ และประเทศไทยยังกำหนดให้โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตราย เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรต้องรายงานไปยังเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่เพื่อทำการสอบสวนและควบคุมโรคโดยเร็ว ซึ่งเมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม 2565) กรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยาได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แจ้งยกระดับการเฝ้าระวังที่คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกสุขภาพทางเพศ และคลินิกแพทย์ที่มีผู้ป่วยสงสัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาใช้บริการ สื่อสารแนวทางการเฝ้าระวังคัดกรองและรายงาน หากพบผู้มีอาการสงสัยให้ส่งตรวจเชื้อไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) ทันทีที่ห้องปฏิบัติการที่ระบุในแนวทางดำเนินการ” นพ.โอภาสกล่าว
********************************** 23 กรกฎาคม 2565