การดำเนินโครงการความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ตามข้อตกลงของฝ่ายไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นในช่วงเดือนถือศีลอดได้ประสบผลสำเร็จด้วยดี ทั้งผู้ร่วมโครงการและโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ โดยทางกองทัพภาคสี่ต้องการที่จะขยายเวลาไปอย่างถาวร
สาระส่วนหนึ่งของโครงการนี้คือ ฝ่ายทางการไทยอนุญาตให้สมาชิกขบวนการกลับมาพบครอบครัวได้ โดยไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วม 266 คน เดิมมีกำหนดเวลาสิ้นสุดในวันเสาร์นี้
“หลังจากรอมฎอนสันติสุขบรรลุตามข้อตกลง ทำให้เห็นชัดแล้วว่าทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันได้ และตอนนี้ รอมฎอนสันติก็ไม่ได้สิ้นสุดวันที่ 14 พฤษภาคม ตามที่มีการกำหนดเดิม แต่เป็นการต่อเวลาต่อเนื่องไปเลย” พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีนี้
“หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะร่วมคุยกันที่มาเลเซีย ว่าจะใช้วิธีการแนวทางอย่างไรต่อไปเพื่อยกระดับสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างถาวร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในการเจรจาระหว่าง พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (นายฮีพนี มะเร๊ะ) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” (Ramadan Peace Initiative) โดยสองฝ่ายจะยุติการใช้ความรุนแรงชั่วคราว และรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัว ในระหว่างเดือนรอมฎอน ไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคมนี้
อีกทั้งเบนาร์นิวส์ ยังได้สอบถามความคิดเห็นไปที่ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาของมาเลเซีย หากก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน
พ.อ. เกียรติศักดิ์ ระบุว่า การดำเนินการความริเริ่มดังกล่าวประสบผลสำเร็จเพราะมีเหตุการณ์รุนแรงซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณชน จำนวน 5 เหตุการณ์ ตรวจสอบแล้วเป็นคดีความมั่นคง 1 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่บ้านละหาร หมู่ที่ 8 ต.แป้น อ.สายบุรี จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย แล้วยังได้จุดระเบิดซ้อนอีกหนึ่งลูก ทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ซึ่งขบวนการพูโลออกมาแสดงความรับผิดชอบ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องส่วนตัวและการคลุ้มคลั่งเพราะเสพยาเสพติด
เบนานิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากฝ่ายบีอาร์เอ็นและขบวนการพูโลได้ในวันพฤหัสบดีนี้
อนึ่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม หนึ่งวันหลังการเฉลิมฉลองวันฮารีรายอ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินโครงการความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขในช่วง 30 วันแรกสำเร็จด้วยดี และในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาใช้กลไกร่วมเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการยุติความรุนแรง โดยผู้แทนฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นตกลงกันว่า จะมีการประชุมอีกครั้งในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะปฏิบัติร่วมกันในห้วงที่ผ่านมา และร่วมขยายผลเพื่อสันติสุขต่อไป
ได้กลับบ้านในรอบ 5 ปี
พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ขณะนี้ สมาชิกขบวนการในโครงการทั้งหมด 266 คน ยังใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ปกติต่อไป ซึ่งเขาเหล่านั้นแยกกันอยู่กับครอบครัวบ้างและบางส่วนได้เข้าไปศูนย์ในศูนย์สันติวิธี
“มีเกินครึ่งที่มาคุยแล้วว่าขออยู่กับครอบครัวต่อไป และอีกส่วนหนึ่งยังเงียบไม่ได้ให้คำตอบอะไร เขาอาจจะกลับเข้าป่าหรือจะอย่างไรเราก็ต้องมาคุยกันอีกรอบ ในส่วนของกลุ่มที่ขออยู่กับครอบครัวต่อ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาดู ในเรื่องของอาชีพ ความปลอดภัย ในการใช้ชีวิต ที่สำคัญเขาต้องทำตามกติกา คือไม่ทำผิดกฎหมายอีก” พ.อ. เกียรติศักดิ์กล่าว
นายแม อายุ 34 ปี หนึ่งในผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ได้เข้าร่วมโครงการรอมฎอนสันติ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ภาครัฐให้โอกาสให้เขาสามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้เหมือนเดิม หลังจากต้องหนีออกจากบ้านไป 5 ปี
“เขาบอกว่าเราเป็นสมาชิกร่วมขบวนการ ผมอยู่บ้านเขาจะมาจับ ก็เลยตัดสินใจไปอยู่บ้านญาติ หลบซ่อนไป ๆ มา ๆ ไม่ได้อยู่กับที่เลย อยู่ตรงนั้น 3-4 วันก็ย้ายไปอีกที่ อยู่ได้ 2-3 วันก็ย้ายอีก ไม่เคยได้อยู่กับที่แล้วอยู่อย่างมีความสุขเหมือนคนทั่วไป พอทราบว่ามีโครงการนี้ก็ขอให้ครอบครัวติดต่อขอเข้าโครงการ” นายแม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ทำไมต้องหนี ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเขาใส่ข้อมูลอย่างนั้นเพราะอะไร แต่คนที่เดือดร้อนคือเราและครอบครัว ในช่วงที่หลบไม่เคยไปทำร้ายใครไม่เคยไปทำอะไร หนีท่าเดียว จนถามตัวเองว่าเราจะต้องหนีอีกนานแค่ไหน ชีวิตเราถึงจะจบ ก็ไม่มีคำตอบให้ตัวเอง ร้องไห้บ่อยมากเจ็บใจกับโชคชะตาที่เจอในชีวิต” นายแมกล่าว
ทางด้าน นางเยาะ แม่ของนายแม กล่าวว่า “เมื่อก่อนไม่มีวันไหนที่มีความสุขเลย ไม่มีวันไหนที่นอนหลับ ทุกวันนี้สบายใจแล้วที่ได้ลูกกลับมาอยู่กับครอบครัว ขอบคุณทุกคนที่ทำให้มีโครงการนี้”
ส่วนผู้ร่วมโครงการอีกราย กล่าวยอมรับว่าตนเองเป็นสมาชิกขบวนการ และมีส่วนในการก่อเหตุ
“ผมรู้สึกเบื่อแล้วที่จะหนี กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวดีกว่า ตอนนี้ ก็ดีใจที่ได้กลับมาอยู่บ้าน ทำงานเลี้ยงครอบครัว เมื่อก่อนร้องไห้ตลอด เวลาเจอแฟนเขาจะเล่าให้ฟังว่าลูกขอเงินไปซื้อขนม แต่เขาไม่มีให้ แฟนก็ร้อง เราก็ร้องสงสารลูก ตอนนี้ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว ไม่เอาแล้วกับสิ่งที่ผ่านแล้วก็ให้ผ่านไป” นายโซป วัย 57 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
องค์กร International Crisis Group ซึ่งมีที่ตั้งในบรัสเซลส์ กล่าวแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมาว่า “หากการยุติความรุนแรงชั่วคราวประสบผลสำเร็จ นั่นหมายถึง บีอาร์เอ็นมีสายการบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพ และแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จในทางปฏิบัติหลังจากที่มีการเจรจา และช่วยปรับสภาวะที่ดีขึ้นในการปรึกษาหารือร่วมกับของภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังออกกฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 37 วัน ในระหว่างการสอบสวน โดยยังไม่ได้ตั้งข้อหา
มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน