การเมือง
“ทีมโฆษกรัฐบาล”เรียงหน้าแจงยิบ ปม”ไฟเซอร์-ถอดงานวิจัยฟ้าทะลายโจร”
วันจันทร์ ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 21.24 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
“ทีมโฆษกรัฐบาล”เรียงหน้าแจงยิบ ขอย้ำให้สบายใจ “ไฟเซอร์” ไม่หายไปไหน แค่ส่งเป็นล็อตกระจายตามรายชื่อที่ รพ.ส่งมา ลั่นไม่มีนโยบายบูสเตอร์ให้ “วีไอพี” ยันปมถอดงานวิจัยฟ้าทะลายโจรเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ไม่ใช่เพราะรักษาอาการโควิดไม่ได้ เปิดวัคซีน 3 ประเภทฝีมือคนไทย หลัง “ไบโอเทค” คิดค้นวัคซีนแบบพ่นจมูก สู้เชื้อกลายพันธุ์
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล ถึงเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการวิจารณ์มากถึงไฟเซอร์หายไปไหนนั้น โดยน.ส.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ในโซเชียลมีเดียมีการติด แฮชแท็กกันมากว่าไฟเซอร์หายไปไหน ขอย้ำให้ประชาชนสบายใจว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกามา 1.5 ล้านโดส ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนที่มีบางโรงพยาบาลได้รับแค่ 50-60% เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า ตามที่โรงพยาบาลส่งรายชื่อมา ซึ่งยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องส่งไปให้ครบทุกคนอย่างแน่นอน
นายอนุชา กล่าวว่า ในล็อตแรกนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งไปแล้ว 170 โรงพยาบาล ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้ฉีดแล้ว ประมาณ 60,000 โดส เริ่มตั้งแต่ 3 สิงหาคมเป็นต้นมา แล้วจะมีล็อตต่อๆ ไป ที่จะส่งไปให้เพื่อให้ฉีดกับบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าอย่างแน่นอน และขอย้ำว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะฉีดเข็มที่3 หรือบูสเตอร์ให้กับวีไอพีอย่างแน่นอน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่จังหวัดเลยที่มีการฉีดให้กับพลทหารนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงพยาบาลสนาม มีความใกล้ชิดคอยดูแลรับผู้ป่วย โควิด-19 อยู่ ดังนั้นจึงอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบุคลากรด่านหน้า ทุกอย่างมีคำอธิบายได้
ยันปมถอดงานวิจัยฟ้าทะลายโจรเพื่อศึกษาเพิ่มเติม
นายอนุชา กล่าวถึงกรณียาฟ้าทะลายโจร ที่มีการถอนต้นฉบับที่รอการตีพิมพ์นั้น ว่า ทางกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ชี้แจงว่า เรื่องของทีมวิจัยที่ถอนผลงานฟ้าทะลายโจรนั้นไม่ใช่เพราะฟ้าทะลายโจรไม่สามารถที่จะรักษาอาการโรคโควิด-19 ได้แต่เนื่องจากในปัจจุบันเรื่องของข้อมูลยังไม่สามารถสรุป ไปอย่างนั้นได้อย่างเพียงพอ จึงขอถอนมาเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของจำนวนที่จะได้รับการวิจัยเพิ่มเติม แต่ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ถ้ารับประทานต่อเนื่องห้าวันในจำนวน 180 มิลลิกรัมสามารถลดการอักเสบของปอดได้ ดังนั้นเรื่องการรักษา โควิด-19 จึงให้ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ที่มีอาการน้อยอยู่ได้ในเบื้องต้นในปริมาณที่เหมาะสมร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ด้วย ดังนั้นเรื่องของความชัดเจนในการที่นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ถอนการวิจัยจึงไม่เกี่ยวกับกรณีที่ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถที่จะควบคุมหรือรักษา โควิด-19 ได้แต่นำกลับมาเพื่อที่จะทำให้งานวิจัย มีรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับจำนวนงานวิจัยที่มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีโครงการฟ้าทะลายโจรเพื่อผู้ต้องขัง ในเรือนจำเป็นอีกงานวิจัยหนึ่ง จะได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการหาข้อสรุปในอนาคต สรุปว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรยังสามารถได้ผลที่จะป้องกันผู้ติด โควิด-19 ไม่ให้เกิดปอดอักเสบและสามารถใช้งานต่อไปได้
น.ส.รัชดา กล่าวว่า งานวิจัยฟ้าทะลายโจรที่เป็นประเด็นข้อสงสัยว่าฟ้าทลายโจรสามารถลดอาการปอดอักเสบได้หรือไม่ นพ.สันต์ ได้โพสต์ ว่าทีมนักวิจัยขอถอดงานวิจัยเพื่อรอการตีพิมพ์นั้นออกมาก่อน และได้อธิบายว่าที่โพสต์ไปนั้น ไม่ได้ บอกว่ายาฟ้าทะลายโจรไม่ดีแต่ด้วยสรรพคุณลดการเกิดปอดอักเสบ ได้หรือไม่นั้นในวันนี้ขอไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่มาคำนวณค่านัยยะความสำคัญที่เปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับตัวยาหลอก ขอศึกษาเพิ่มเพื่อที่จะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรว่าจะสามารถลดการเกิดปอดอักเสบได้หรือไม่ ส่วนสรรพคุณการลดการแพร่เชื้อ โควิด-19 นั้นชัดเจนแล้วว่าฟ้าทะลายโจรทำได้ดีอย่างเช่นตัวอย่าง ของกรมราชทัณฑ์ที่ใช้ในเรือนจำ เกือบ 20,000 คน ที่ผลออกมา 99 เปอร์เซ็นต์ที่หายจากโควิด-19 และทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ป่วยที่กัก รักษาตัวอยู่ที่บ้าน แบบคอมมูนิตี้ไอโซเรชั่นและโฮมไอโซเรชั่น
เปิดวัคซีน 3 ประเภทฝีมือคนไทย หลัง”ไบโอเทค”คิดค้นวัคซีนแบบพ่นจมูก สู้เชื้อกลายพันธุ์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เผยข้อมูลผ่านแฟนเพจระบุว่า ไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูก เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียง สู้เชื้อกลายพันธุ์ได้นั้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการคุ้มโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะผลักดันให้เป็นวัคซีนต้นแบบป้องกันโรค COVID-19 สามารถนำไปทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครต่อไป
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่มีการเริ่มระบาดในประเทศจีนในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ทางทีมวิจัย เริ่มงานวิจัยโดยการ การสังเคราะห์ยีนสไปค์ของไวรัสขึ้นเองโดยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่เผยแพร่หลังจากที่มีการถอดรหัสสำเร็จ และนำยีนดังกล่าวไปใช้เป็นแอนติเจนหรือโปรตีนกระตุ้นภูมิในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับความสามารถในการทำวิจัยเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส ที่ทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสให้มีความอ่อนเชื้อลง และไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ซึ่งได้มุ้งเน้นพัฒนาต้นแบบวัคซีน 3 ประเภท คือ
1) วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัสแต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังกล่าววัคซีนรูปแบบนี้จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย
2) วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปก์ค์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน
3) วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อและสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และ เพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปค์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อนำไวรัสชนิดนี้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ซึ่งทีมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาในหลอดทดลองและทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองและประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจริงในเฟสต่างๆ
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่