สัมภาษณ์
นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาดมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าธุรกิจทุกภาคส่วนได้รัลผลกระทบกันถ้วนหน้า แม้พื้นที่เศรษฐกิจซึ่งมีความหลากหลายอย่างจังหวัด “เพชรบุรี” ที่มีพร้อมทั้งการค้า การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และภาคบริการ ผู้ประกอบการยังต้องออกปากบอกว่าสถานการณ์ดาวน์ลงมาก
โควิดหนักยอดขายวูบ
“พันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้าเมืองเพชรจำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทโตโยต้าเมืองเพชรมีอยู่ 3 สาขา ได้แก่ สาขาชะอำ สาขาในตัวเมือง
และสาขาท่ายาง เป็นสาขาใหญ่ที่สุด รวมยอดขายจากที่เปิดทำการตั้งแต่ปีแรกที่เพียงหลักร้อยคัน จนเติบโตขึ้นมาจนถึงหลักพันคัน ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2,000 คัน/ปี
ในปี 2563 ที่ผ่านมา มียอดขายเฉียด 2,000 คัน ในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ใกล้เคียงกับปี 2563 ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก ราคาเฉลี่ยประมาณตั้งแต่ 7-8 แสนบาทต่อคัน ถึงหลักล้านบาทต่อคัน
แต่ปีนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับหนักกว่าปีที่ผ่านมามาก เพราะกินเวลายืดเยื้อมานานจนกำลังซื้อผู้คนถดถอย คนขาดความเชื่อมั่น ไฟแนนซ์เริ่มเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
สถานการณ์ดาวน์ลงมาก ข่าวที่ออกมาก็ไม่มีเรื่องดี โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่จะแก้ปัญหาได้นั้นไม่มีสัญญาณในเชิงบวกเลย
“ผลกระทบจากโควิด-19 ลากยาวมานานเกินไป การแก้ปัญหาของภาครัฐโดยใช้วัคซีนไม่มีความชัดเจน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดรถยนต์ลดลงและสถานการณ์ในช่วงนี้คิดว่าน่าจะทำให้ยอดขายลดลงไปเรื่อย ๆ
สมมติจากเดิมที่มีโรคโควิด-19 ระบาด ยอดขายลดลงไป 20-30 คันต่อเดือน มาตอนนี้ยอดขายลดลงไปอีก 35-40 คันต่อเดือน จากที่ตั้งเป้าไว้น่าจะติดลบ ส่วนนโยบาย 120 วันที่รัฐบาลประกาศตั้งใจจะเปิดประเทศ
ขณะนี้ไม่มีอะไรสื่อไปในทิศทางนั้นเลย วัคซีนทางเลือกมีข้อจำกัดมากมายกว่าจะได้มา มองสถานการณ์แล้วคงล้มลุกคลุกคลานไปอีกนาน”
โดยการกู้สถานการณ์ที่เร็วที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คิดว่ายังยากอยู่ หากเดือนสิงหาคม-กันยายน ประเทศไทยยังไม่ได้รับวัคซีน mRNA มาเป็นลอตใหญ่ แนวโน้มการแพร่ระบาดและเศรษฐกิจทุกอย่างคงหนักขึ้นไปอีกมาก ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจโดยด่วน เพราะผู้ประกอบการอาศัยข้อมูลจากที่ประกาศออกมาไม่ได้เลย
มาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 เมืองเพชร
ทั้งนี้ “พันธุ์ธัช” บอกว่า สำหรับจังหวัดเพชรบุรี ปกติรถยนต์โตโยต้าประเภทรถยนต์เชิงพาณิชย์ หรือรถปิกอัพ มียอดขายดีมาก สัดส่วนมากถึง 60-65% จากประเภทอื่น
และถ้าเทียบกับแบรนด์อื่นถือว่ามียอดขายที่มากกว่าเช่นกัน หากรวมกับยอดขายของรถเก๋งแล้วก็เอาชนะคู่แข่งแบรนด์อื่นได้
หลายปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับแบรนด์รถอื่นแล้ว โตโยต้ามีมาร์เก็ตแชร์อยู่ประมาณ 43-46% เป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัด ขณะเดียวกันคู่แข่งเร่งตามหลังมาติด ๆ เพราะดีลเลอร์ในจังหวัดอื่นสามารถสร้างยอดขายเอาชนะโตโยต้าได้ ทำให้ภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูง
โดยกลยุทธ์ของโตโยต้าเมืองเพชรนั้นมาจากการบริหารงานเป็นหลัก ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรให้คิดและเห็นภาพในทิศทางเดียวกัน ด้วยการเป็นตัวแทนการขาย
สร้างคุณภาพและความสุขให้กับลูกค้าเป็นหลัก ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือจังหวัดเพชรบุรี มีความหลากหลายของอาชีพที่สร้างกำลังซื้อให้กับลูกค้าตลอดมา
“อย่างในพื้นที่ภาคใต้ที่นิยมปลูกยางพารา เมื่อราคาตกกำลังซื้อก็หาย ฝั่งภาคอีสานนิยมทำเกษตร เมื่อพืชผลทางการเกษตรราคาตกกำลังซื้อก็ไม่ดีตามไปด้วย อย่างหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ
ถ้าการท่องเที่ยวซบเซาก็แย่ แต่เพชรบุรีเรามีครอบคลุมทุกอย่าง ครบทุกอาชีพทั้งท่องเที่ยว นาเกลือ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม จึงสามารถประคับประคองกำลังซื้อได้บ้าง”
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถของลูกค้าคือการขายต่อราคาแต่ละแบรนด์มีราคาขายต่างกัน แม้จะออกรถใหม่ใช้แล้วเพียง 1 เดือน เมื่อขายต่อแบรนด์หลักกับแบรนด์รองราคาต่างกันมาก และโตโยต้าเป็นหนึ่งในแบรนด์หลักชั้นนำที่คนนิยม
แนะรัฐเด็ดขาด-ทิศทางต้องชัด
ทั้งนี้ ยอดการซื้อรถยนต์ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจของจังหวัดได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นฐานนำไปใช้ในการประกอบอาชีพการงานของคนในปัจจุบัน เมื่อเศรษฐกิจดี
การซื้อขายรถยนต์จะทำได้ง่ายและคล่องตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งรถหรูที่ราคาค่อนข้างแพง แต่หากเศรษฐกิจเริ่มดาวน์ลง ยอดการซื้อขายรถจะลดลง ซึ่งในปัจจุบันนั้นจะวัดได้อีกหนึ่งทางคือ สัดส่วนของการจัดสินเชื่อ
“หากเทียบว่าปกติเศรษฐกิจดีขายรถได้ 100% และถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขายได้น้อยลง เช่น ขายได้เพียง 90% แต่ในทางหนึ่งต้องดูสัดส่วนการจัดสินเชื่อด้วยว่า ขายได้ 90% อาจจะซื้อไฟแนนซ์มากถึง 80%
และอาจจะไม่ผ่านสินเชื่อกว่า 30% จะซื้อเงินสดเพียงประมาณ 10% เท่านั้น และปัจจุบันรถหรูขายได้ไม่มาก แต่รถปิกอัพพอขายได้บ้าง ส่วนรถเก๋งราคา 5-6 แสนบาท หรือ 8-9 แสนบาท ขายได้เล็กน้อย ทุกอย่างแปรผันไปตามภาวะเศรษฐกิจหมด”
อย่างไรก็ตาม “พันธุ์ธัช” กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อยากเห็นรัฐบาลเด็ดขาดในการตัดสินใจ และกำหนดทิศทางแก้ไขสถานการณ์ให้ชัดเจน ในมุมมองของคนทำธุรกิจจะได้ความเชื่อมั่น และอยากให้ภาครัฐช่วยเยียวยา ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจให้กับประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการบ้าง