ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนรักกัน แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่าทำไมต้องรักกัน”
ครูจิตราที่ไม่ยอมให้ผมเรียกว่าพี่จิตรา เพราะอยากให้คำว่า “ครู” กระตุ้นเตือนให้ต้องทำหน้าที่ที่มุ่งหวังให้สมบูรณ์ นั่นก็คือหน้าที่ในการ “สร้างคน” โดยที่ครูจิตราไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า ตัวเองเกิดมาเพื่อหน้าที่นี้ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ครูจิตราได้รำลึกถึงเพื่อนคนหนึ่งในวัยเด็ก
ตอนนั้นครูจิตราเรียนอยู่ในชั้นเตรียมประถม(ที่ต่อมาเรียกกันว่าชั้นอนุบาล) และมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ “เล็ก” เด็กในโรงเรียนนี้เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่ยากจน หรือไม่ก็เป็นครอบที่ “มีปัญหา” เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในย่านสลัมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือสลัมคลองเตย สำหรับเล็กไม่เพียงแค่จน แต่ยัง “แย่” คือพ่อแม่แยกกัน แล้วแม่ก็เอามาฝากยายที่สลัมคลองเตยนี้เลี้ยงไว้ตั้งแต่คลอดออกมาใหม่ ๆ นาน ๆ ทีแม่จึงจะมาเยี่ยมสักครั้ง แต่พอเล็กกำลังจะเข้าโรงเรียน แม่ก็ไปอยู่กับสามีใหม่ที่เป็นทหารอเมริกัน ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ส่วนพ่อก็เป็นคนที่ติดยา แล้วที่สุดต้องเข้าไปอยู่ในคุก ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต
สมัยก่อนยังไม่มีสวัสดิการในโรงเรียนเกี่ยวกับอาหารกลางวัน นักเรียนทุกระดับชั้นต้องเอาข้าวใส่กล่องมากินที่โรงเรียนเองทุกคน วันแรกที่เล็กมาโรงเรียน โดยที่ยายพามาในตอนเช้า พอยายจะแยกกลับ เล็กก็ร้องไห้แล้วลงดิ้นเกลือกกลิ้งที่พื้นหน้าโรงเรียน จนครูต้องมาปลอบจนหยุดร้องไห้ แล้วพาไปเข้าแถวกับเพื่อน ๆ ถึงเวลากลางวันเพื่อพักรับประทานอาหาร เล็กก็ร้องไห้อีก ครูมาถามว่าไม่ได้เอาข้าวมากินด้วยหรือ หรือยายอาจจะลืมห่อมาให้ เล็กก็เอาแต่ร้องไห้ ครูจิตราตอนนั้นก็อายุ ๕ ขวบ เอาข้าวในกล่องไปแบ่งให้ทาน เล็กจึงหยุดร้องไห้ แล้วก็กินข้าวที่ได้รับแบ่งมานั้นจนหมด จึงรู้ว่าเล็กไม่ได้กินข้าวมาตั้งแต่เช้า ต่อมาแม้เล็กจะมีข้าวใส่กล่องมากิน แต่บางวันก็ไม่มีกับข้าวใส่มาด้วย เพื่อน ๆ ก็จะแบ่งกับข้าวต่าง ๆ ให้เสมอ รวมถึงมีห่อฝากกลับไปฝากให้ยายที่ห้องพักได้กินด้วย เป็นอย่างนี้ไปจนเรียนจบชั้นเตรียมประถม ปีต่อไปก็ต้องขึ้นชั้นประถม ๑ แต่เล็กเกือบจะไม่ได้เรียนต่อ และเกือบจะหมดอนาคต
บ่ายวันนั้นตอนเลิกเรียน มีนักเรียนคนหนึ่งร้องไห้โวยวายมาหา “ครูปราณี” ที่ดูแลชั้นเด็กเล็ก บอกว่าดินสอหาย ครูปราณีจึงให้นักเรียนในห้องเตรียมประถมมาเข้าแถวแล้วค้นเป็นรายตัว ก็ไปพบดินสออยู่ในกระเป๋ากระโปรงของเล็ก ถามเล็กว่าได้มาอย่างไร เล็กก็ร้องไห้อย่างหนัก ก่อนที่จะพยักหน้าเมื่อครูถามว่าเป็นของเพื่อนนักเรียนคนที่มาบอกครูนั้นใช่ไหม จากนั้นครูปราณีก็บอกให้ทุกคนเงียบ บอกว่าจะเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟังก่อนกลับบ้าน ซึ่งเป็นนิทานที่ครูจิตราแม้จะเป็นเด็กเล็กก็ยังจำได้ติดหูมาจนถึงทุกวันนี้
“มีนกกระจิบสามตัวเป็นเพื่อนกัน อาศัยอยู่ในรังที่สานด้วยใบหญ้าแห้ง ๆ รังเดียวกัน นกกระจิบทั้งสามตัวนี้ไม่มีพ่อแม่ ต้องหาอาหารมาเลี้ยงกันเอง เวลาที่ตัวไหนได้หนอนหรือแมลงมาก็จะแบ่งกันกิน วันหนึ่งมีนกกระจิบตัวหนึ่งป่วยหนัก ออกไปหากินไม่ได้ เช้าวันต่อมาเพื่อนอีกสองตัวก็ออกไปแต่เช้าหาหนอนมาให้เพื่อนนกที่ป่วย พอใกล้เที่ยงก็ได้หนอนมา 3 ตัว เอามาให้เพื่อนนกตัวที่ป่วยกินก่อน 1 ตัว แล้วบอกว่าที่เหลืออีก 2 ตัวนี้อย่าเพิ่งกิน เดี๋ยวขอออกไปหาหนอนอีกรอบจะได้กลับมากินพร้อมกัน จนใกล้ค่ำนกอีกสองตัวก็บินกลับมาโดยไม่ได้หนอนมาเลยสักตัว ด้วยความเหนื่อยและหิวก็ถามหาหนอนที่ฝากเพื่อนนกที่ป่วย เพื่อนนกที่ป่วยก็บอกว่าตัวเองกินไปแล้วด้วยความหิว เพื่อนนกตัวหนึ่งโกรธมาก กระโดดจะเข้าจิกเพื่อนนกตัวที่ป่วย เพื่อนนกอีกตัวหนึ่งจึงกระโดดเข้าห้าม ก่อนที่จะพูดว่า เราก็มีอยู่กันแค่นี้ เพื่อนคนหนึ่งก็ป่วย เขาคงหิวมากจนลืมเก็บหนอนไว้ให้ ถ้าเราทำร้ายเพื่อน ก็เหมือนกับเราทำร้ายคนที่ป่วยหนัก แล้วเราก็จะเสียเพื่อนไป แล้วเราก็จะอยู่ต่อไปโดยไม่มีเพื่อน เราเป็นเพื่อนกันต้องช่วยกัน และต้องให้อภัยกัน เพื่อให้เขากลับตัวเป็นคนดี เหมือนกับนกอีก 2 ตัวที่ให้อภัยเพื่อนนกตัวที่ป่วย เพื่อให้เขาเป็นนกที่ดีเมื่อเขาหายป่วยแล้วนั้น”
ครูปราณีกอดเล็กกับนักเรียนเจ้าของดินสอไว้ในอ้อมแขน ก่อนที่จะพูดกับเพื่อน ๆ อีก 10 กว่าคนที่รายรอบอยู่ว่า “คนสองคนนี้เป็นเพื่อนกันมาตั้งหลายเดือน เหมือนกับเราทุกคนที่เป็นเพื่อนกัน วันนี้เล็กป่วยมาก ความจนเป็นโรคอย่างหนึ่ง พวกเราทุกคนก็จน เราก็ป่วยเหมือนกัน แต่เล็กป่วยมากกว่าพวกเรา เพราะไปหยิบเอาของเพื่อนมา แต่ถ้าเราไม่ให้อภัยเล็ก เล็กก็ต้องไม่มีที่เรียน เล็กก็จะยิ่งป่วย คือต้องไปเจอคนไม่ดีอีกมากมายที่อื่น แต่ที่นี่มีแต่คนดี ๆ มีแต่เพื่อน เราให้อภัยเล็กเถิดนะ เพื่อเพื่อนคนหนึ่งของเรา และเราจะได้เป็นเพื่อนกันตลอดไป วันหนึ่งถ้าเล็กหายป่วย เล็กเป็นคนดี เล็กก็จะกลับมาช่วยพวกเราอีกเหมือนกัน”
คำพูดของครูปราณีอาจจะฟังดูเกินสติปัญญาของเด็ก ๆ แต่จากภาพที่ครูปราณีให้เล็กกับเจ้าของดินสอกอดกัน ได้ทำให้เด็กทุกคนเข้าใจและมองเห็นภาพว่า นี่คือความสวยงามของความเป็นเพื่อน ภาพที่เพื่อนกอดกัน ภาพที่ครูลูบหัวคนทั้งสอง ได้ทำให้ทั้งห้องเกิดความอบอุ่น เรื่องของหายไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเพื่อนหายไปก็จะเหมือนขาดบางอย่างในห้องนั้นไป ซึ่งทุกคนรู้ได้ในทันทีว่ามันเป็นความทุกข์ทรมานมาก เพราะทุกคนก็ล้วนมีสิ่งของที่ขาดหาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จนถึงคนในที่อื่น ๆ มาเหลียวแล
เล็กเรียนจนจบชั้นประถม 4 พอขึ้นชั้นประถม 5 เล็กก็ไปเรียนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะมีพ่อแม่อุปถัมภ์มารับไปเลี้ยง เล็กเรียนจนจบมัธยมที่นั่น แล้วไปต่อวิทยาลัยพยาบาลที่สงขลา จบมาก็ไปบรรจุเป็นพยาบาลที่ยะลา แล้วย้ายไปมาอีก 2-3 จังหวัด ก่อนที่จะมาเกษียณที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีของพ่อแม่บุญธรรม เล็กได้แต่งงานกับคุณหมอคนหนึ่งที่เป็นคนในจังหวัดทางภาคใต้ จึงต้องย้ายตามสามีไปตามจังหวัดต่าง ๆ นั้น สุดท้ายสามีมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เล็กก็ได้ช่วยสามีในการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง ทั้งยังดูเหมือนจะทำงานหนักมากกว่าตอนที่เป็นพยาบาล ที่นับว่าเป็นอาชีพที่เหนือยหนักที่สุดแล้ว แต่เล็กบอกว่าอาชีพช่วยชาวบ้านในฐานะภรรยาของนักการเมืองท้องถิ่นนี้ เหนื่อยหนักกว่าการเป็นพยาบาลและหมอเสียอีก เพราะพยาบาลและหมอรักษาแค่การเจ็บป่วยทางสุขภาพ แต่ชาวบ้านนั่นเจ็บป่วยเป็นสารพัดโรค ตั้งแต่โรคความยากจน โรคความเหลื่อมล้ำ จนถึงโรคความอยุติธรรมในสังคม
ครูจิตรามักจะหาโอกาสไปเจอเล็กอยู่เสมอในทุกครั้งที่ลงไปทางภาคใต้ เรื่องหนึ่งที่ทั้งสองคนชอบคุยกันก็คือ แต่ละคนได้ช่วยอะไรแก่ใครไปบ้าง เล็กบอกว่าที่ภูมิใจมากก็คือได้ทำให้คนที่เป็นพุทธได้รักกันกับคนอิสลาม เล็กบอกว่าทุกศาสนาสอนให้คนรักกัน แต่ไม่มีใครเลยที่จะรู้ว่าทำไมต้องรักกัน
เล็กตอบว่าสำหรับตัวเล็กเองนั้น “รักเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรด้วยกันและช่วยเหลือตลอดไป”