



ไทดำ บ้านนาป่าหนาด เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่ม หนึ่งที่เคยตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทดำ บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2425 สมัยสงครามฮ่อ และหลังจากสงครามยุติลง ไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย กลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ “ไทดำ” หรือ “ลาวโซ่ง” ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ส่วนหนึ่งจะอาศัยอยู่ทางภาคกลาง ส่วนกลุ่มสุดท้ายก็อาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย นี่เอง นอกจากนี้ ไทดำที่อพยพเข้ามายังบ้านนาป่าหนาดแห่งนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นไทดำชนชั้นราชวงศ์แทบทั้งสิ้นอีกด้วย เมื่อเดินทางมาถึง นอกจากการเยี่ยมชมวิถีชีวิตและสภาพบ้านเรือนของชาวไทดำที่ สร้างมากว่าร้อยปีแล้วนั้น จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะกันก็คือ “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ บ้านนาป่าหนาด หมู่ที่ 4 ที่นี่เราจะพบกับบ้านจำลองที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของชาวไทดำในอดีต โดยตัวบ้านจะสร้างแบบเรือนเครื่องผูก หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือแฝก ใต้ถุนสูง ซึ่งภายในบ้านจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ ไล่มาตั้งแต่บันไดบ้านด้านหน้า ที่จะขึ้นได้แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เมื่อขึ้นไปแล้วห้องแรกจะเป็นห้องของผีเรือน ผีปู่ย่า ที่ชาวไทดำนับถือ ถัดมาเป็นห้องโล่งและมีพื้นที่กว้างสุดในบ้าน ใช้สำหรับเป็นห้องนอน โดยในห้องนี้จะมีเตาไฟวางไว้ปลายเท้าของเจ้าบ้าน เพื่อให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วย ถัดไปซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของตัวบ้าน จะเป็นที่ประกอบอาหาร โดยมีบันไดที่ใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับผู้หญิงชาวไทดำด้วย นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนบ้านที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ยังมีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำนั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณ หลังว่างเว้นจากการทำนา เพาะปลูก ให้ได้ชมกัน ซึ่งขอบอกว่าพลาดไม่ได้เลย เพราะผ้าทอมือหรือที่ชาวไทดำเรียกว่า “ซิ่นนางหาญ” มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า 100 ปีนั้น มีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ซึ่งซิ่นนางหาญนี้ มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าสนใจว่า มีหญิงไทดำ 3 พี่น้องตั้งใจที่จะทอผ้าซิ่นขึ้นมาผืนหนึ่ง โดยหญิงคนแรกเป็นผู้คิดค้นการมัดลายและทำการทอ แต่ทอยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ได้เสียชีวิตลง หญิงคนที่สองจึงได้ทอต่อ และในระหว่างทอก็เสียชีวิตตามกันไปเป็นคนที่สอง หญิงคนที่สามจึงได้บอกกล่าวผีเรือนว่า หากทอซิ่นผืนนี้สำเร็จ เมื่อมีการเสนเรือน (การเสนเรือน หมายถึง พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของชนเผ่าไทดำ) จะใส่สำรับให้ ทำให้หญิงคนที่สามทอซิ่นผืนดังกล่าวได้สำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาชาวไทดำจึงนิยมใช้ซิ่นนางหาญในการประกอบพิธีเสนเรือนเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า “นางหาญ” ที่ชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด เรียกกันนั้น ก็หมายถึงความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ของหญิงในตำนานคนที่สาม ที่กล้าทอผ้าซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จนั่นเอง นอกจากนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ดังกล่าว ยังมีผังตัวอักษรไทดำที่ เขียนบันทึกไว้สำหรับให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา พร้อมทั้งซื้อหาของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ อาทิเช่น ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย เบอร์ติดต่อ : สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ โทร 08 1048 2000 / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812/0 4281 1405 Facebook : หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด เวลาทำการ : 9.00-21.00 น. ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี ไฮไลท์ : การสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำ และการเรียนรู้ตัวอักษร ภาษาไทดำ กิจกรรม : ชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ ชมการสาธิตการทอผ้า และชมบ้านจำลองที่สร้างตามแบบบ้านโบราณในอดีต