คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เอกลักษณ์น่าสนใจของญี่ปุ่นอย่างหนึ่งคือ การใช้ภาพวาดตัวการ์ตูนอยู่ในแทบทุกวงการรอบตัว ทั้งรายการข่าวและโฆษณาทางโทรทัศน์ โฆษณาและโปสเตอร์ให้ข้อมูลบนรถไฟ แผนที่ในแหล่งท่องเที่ยว หน้าร้านปาจิงโกะ ในนิตยสาร ปกหนังสือ และบนตัวสินค้าอีกมากมาย สงสัยไหมคะว่าทำไมคนญี่ปุ่นเขาชอบภาพวาดการ์ตูนกันจังเลย
ที่จริงฉันไม่ทันนึกถึงเรื่องนี้ ต้องขอบคุณเพื่อนที่ไทยซึ่งพูดถึงจุดเด่นของญี่ปุ่นข้อนี้ขึ้นมาและเสนอแนะหัวข้อมาให้เขียน ก็เลยมีโอกาสไปค้นหาข้อมูลมาเป็นความรู้ให้ตัวเองและได้เอามาฝากเพื่อนผู้อ่านต่อนี่แหละค่ะ
คนญี่ปุ่นชื่นชอบความ “คาวาอี้”
เท่าที่ฉันศึกษาและสังเกตมาคิดว่าการที่ญี่ปุ่นนิยมภาพวาดประกอบตัวการ์ตูน อาจจะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากความชื่นชอบคาแรคเตอร์ที่ “คาวาอี้” (かわいい) คือดูมีความน่ารักน่าชัง อันนี้ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น “Kawaii design” หรือ “Kawaii art” เช่น หัวโต ตาโต ตัวเล็ก หรือตัวป้อม ๆ ใครเห็นแล้วก็เกิดความรู้สึกที่เป็นบวกโดยส่วนใหญ่ เช่น คาแรคเตอร์สินค้าอย่าง Hello Kitty, Rilakkuma และ Gudetama ที่คนไทยเรียก “ไข่ขี้เกียจ” ไปจนถึงคาแรคเตอร์ประจำท้องถิ่นที่ญี่ปุ่นเขาเอาไว้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และมีการเอาตัวคาแรคเตอร์เหล่านี้มาออกแบบเป็นลวดลายสินค้าของท้องถิ่นให้ขายดี บางตัวที่ได้รับความนิยมสูงก็กลายเป็นลวดลายสินค้าที่อื่น หรือกระทั่งดีไซน์ห้องโรงแรม
ความคาวาอี้เหล่านี้ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น เพราะผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นทั้งหญิงชายที่ชอบอะไรแบบนี้ก็เยอะ อีกอย่างคือพอเห็นแล้วทำให้คนเกิดความรู้สึกที่อ่อนโยนลงด้วย คงเพราะอย่างนี้คาแรคเตอร์ประจำจังหวัดที่ดูเด็ก ๆ จึงได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับโดยส่วนใหญ่ อย่างสมมติถ้าจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดไปประชาสัมพันธ์อะไร ถ้าไปกันโดด ๆ ก็อาจโดนเมินหรือคนที่เดินผ่านอาจลังเลที่จะเดินเข้าไปดู พอให้คนใส่ชุดตุ๊กตาคาแรคเตอร์เหล่านี้มาอยู่ด้วย ใครเห็นก็พากันอมยิ้ม เป็นมิตรขึ้นมาทันที และคงเพราะใช้ได้ผลจริง กระทั่งหน่วยงานราชการที่ดูทางการมากอย่างตำรวจหรือทหารก็ยังมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง
ได้ยินว่าบางทีบริษัทต่างชาติรู้สึกว่าญี่ปุ่นออกแบบสวยดี เลยไปขอให้บริษัทญี่ปุ่นออกแบบตัวคาแรคเตอร์ให้เพื่อเอามาใช้เป็นโลโก้ พอออกแบบมาให้ดูจริง ลูกค้ากลับบอกว่าดูญี่ปุ่นไปบ้าง ดูเด็ก ๆ ไปบ้าง ฉันเลยคิดว่าวัฒนธรรมคาวาอี้อาจจะใช้ได้เฉพาะในญี่ปุ่นหรือบางประเทศในเอเชียที่ชอบอะไรคล้ายกันเท่านั้นก็เป็นได้
พูดถึงตัวการ์ตูนที่ดูเด็ก ๆ แล้ว ทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์ขำ ๆ ครั้งหนึ่งตอนยืนรอซื้อบัตรชมภาพยนตร์ที่อเมริกา ตอนนั้นมีชายหนุ่มสองคนยืนรออยู่ข้างหน้า พอพวกเขาได้คิวซื้อบัตรก็หันมามองหน้ากันแล้วคนหนึ่งก็พูดว่า “เอาละนะ” แล้วทั้งคู่ก็หันไปหาคนขายบัตรและพูดพร้อมกันว่า “ขอตั๋ว SpongeBob (สพันจ์บ็อบ) สองใบครับ!”
สาวขายบัตรยิ้ม ส่วนฉันแอบกลั้นหัวเราะอยู่ข้างหลัง รู้สึกว่าพวกเขาน่ารักดี เข้าใจว่าคงเขินที่เป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ยังชอบอนิเมชันที่ดูเด็ก ๆ แต่ที่จริงผู้ใหญ่ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อะไรแบบนี้น่าจะมีเยอะ ดูอย่างโอลิมปิกโตเกียวที่ผ่านมานั่นปะไร นักกีฬาตัวโตกล้ามเป็นมัด ๆ จากต่างประเทศยังพากันเปิดตัวเลยว่าชอบอนิเมชันเรื่องอะไรบ้างด้วยการโพสต์ท่าตามตัวละครที่ตัวเองชอบ
สร้างสีสันกันยกใหญ่ทีเดียว
ความนิยมการ์ตูน อนิเมชัน และเกม
ฉันคิดว่าความนิยมในการ์ตูน อนิเมชัน และเกม เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ญี่ปุ่นใช้การวาดรูปคาแรคเตอร์ลักษณะนี้เป็นภาพประกอบให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เป็นกระดาษหรือออนไลน์ และเดี๋ยวนี้คนยังนิยมเล่าเรื่องผ่านการ์ตูนสั้นในนิตยสารและเว็บไซต์ มีหนังสือ non-fiction ที่เขียนออกมาคล้ายสไตล์การวาดการ์ตูน นอกจากนี้ยังมีการใช้รูปแนวการ์ตูน อนิเมชัน
หรือเกมเป็นภาพประกอบปกหรือภาพประกอบเรื่องสำหรับนิยายแบบ light novel ด้วย บางเรื่องได้รับความนิยมมาก เขาก็เอามาสร้างเป็นการ์ตูนหรืออนิเมชันต่ออีกทอดหนึ่งด้วยค่ะ นักวาดภาพบางคนวาดสวยมาก ๆ จนออกสมุดภาพเป็นของตัวเองก็มีหลายคน บ้างก็ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง มีแฟนคลับติดตาม
ว่าแต่คนญี่ปุ่นที่วาดรูปลงสีได้อย่างเก่งกาจมีเยอะมากจริง ๆ จนบางทีแอบคิดว่าคนญี่ปุ่นวาดรูปเป็นกันหมดทุกคนหรืออย่างไร
บางคนเป็นเพียงมือสมัครเล่น แต่วาดภาพออกมาได้สวยกว่ามืออาชีพก็มี ยิ่งเดี๋ยวนี้ความต้องการนักวาดภาพประกอบมีเยอะขึ้นในแทบทุกวงการของญี่ปุ่น ทำให้อาชีพนี้เป็นที่น่าสนใจขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
ภาพวาดประกอบให้ผลดีในการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์
ลำพังวัฒนธรรมคาวาอี้ การ์ตูน อนิเมชัน และเกมเพียงอย่างเดียว คงไม่อาจเป็นแรงผลักดันให้ญี่ปุ่นเอาภาพวาดหรือตัวการ์ตูนไปใช้ในทุกวงการ หากแต่น่าจะเป็นเพราะว่าภาพวาดหรือตัวการ์ตูนเหล่านี้ส่งผลดีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับผู้อ่าน/ผู้ชมได้ดีขึ้น หรือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์
ว่ากันว่าคนจะเลือกอ่านนิตยสารหรือเว็บไซต์ใด ๆ ต่อ เขาจะใช้เวลาตัดสินใจเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ถ้าหากพบว่าไม่น่าสนใจก็จะปล่อยผ่านไป ดังนั้นการใช้ภาพวาดประกอบช่วยจะทำให้คนอ่านเข้าใจสารได้ในพริบตา ดึงดูดความสนใจไว้ไม่ให้อ่านข้ามไปเฉย ๆ
การใช้รูปวาดตกแต่งยังทำให้เนื้อหานั้นดึงดูดสายตาและสร้างบรรยากาศ ไม่เว้นแม้กระทั่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถิติอย่างในตัวอย่างข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่โฆษณาสถิติต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจของนักศึกษา เนื้อที่ของรั้วมหาวิทยาลัย และจำนวนนักศึกษาต่อคาบเรียน ดูดีและน่าสนใจกว่ากว่าการใช้เพียงตัวเลขและข้อความเยอะเลย ทั้งยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในใจด้วย
ทั้งนี้วิธีการใช้สี ลักษณะการระบาย และความหนักเบาของลายเส้นก็ส่งผลต่อผู้อ่านด้วย อย่างถ้าเป็นนิตยสารผู้หญิงก็อาจจะใช้สีน้ำหรือสีไม้ ใช้สีอ่อน โทนหวาน ใช้ลายเส้นอ่อนช้อย ถ้าเป็นนิตยสารฟิตเนสก็จะใช้โทนสีสดใสและรูปวาดที่ดูทันสมัย เป็นต้น
ที่คิดไม่ถึงคือบางทีรูปวาดยังเหมาะเอามาใช้สื่อสารในสิ่งที่ไม่เหมาะใช้รูปถ่ายด้วยนะคะ อย่างสมมติจะโฆษณาสินค้าป้องกันรูขุมขนจมูกกว้าง จะให้หารูปนางแบบที่มีรูขุมขนจมูกกว้างมาลงก็คงไม่น่าดู แถมความเป็นนางแบบก็ให้ความรู้สึกว่าอยู่คนละโลกกับคนอ่านด้วย แต่พอใช้รูปวาดแล้ว นอกจากจะทำให้คนอ่านมองภาพสิ่งที่ละเอียดอ่อนต่อสายตาได้สะดวกใจยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยให้คนอ่านรู้สึกโยงภาพวาดเข้ากับตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย
การใช้ภาพวาดประกอบยังทำให้เข้าใจง่ายกว่าการใช้ข้อความตัวอักษรอย่างเดียว ซึ่งอันนี้ก็คงเหมือนหนังสือภาพสำหรับเด็กที่เน้นรูปประกอบ อย่างถ้าจะอธิบายการประกอบเฟอร์นิเจอร์ DIY หากมีรูปภาพประกอบด้วยจะเข้าใจง่ายกว่ามากใช่ไหมคะ หรือหนังสือ non-fiction หลายเล่มของญี่ปุ่นที่เขียนออกมาในแนวการ์ตูน ก็คงเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายและรู้สึกสนุกกับการอ่านมากขึ้นนั่นเอง
หรือถ้าเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจยากอย่างเรื่องการเงิน การใช้รูปวาดหรือตัวการ์ตูนก็จะช่วยทำให้คนรู้สึกสบายใจขึ้นที่จะอ่านหรือทำความเข้าใจ อย่างในตัวอย่างนี้เป็นเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่มีลูก
โดยสรุปแล้วความนิยมสิ่งที่ “คาวาอี้” บวกกับความชอบการ์ตูน อนิเมชัน และเกมของคนญี่ปุ่น และการเห็นประโยชน์ของการใช้รูปวาดเหล่านี้เพื่อการสื่อสาร จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมใช้รูปวาดประกอบในแทบจะทุกบริบทของชีวิตประจำวันรอบตัวเลยทีเดียว แม้ในโรงพยาบาลหรือคลีนิกก็ยังเต็มไปด้วยโปสเตอร์ที่มีรูปวาดประกอบเสมอ มานึกดูแล้วที่ฉันเคยเผลอให้ความสนใจโปสเตอร์เหล่านั้นบ่อยครั้ง ก็คงเพราะสะดุดตากับภาพวาดนี่เอง
การที่สติกเกอร์ไลน์ขายดิบขายดีก็คงเป็นเพราะเหตุผลเหล่านี้เหมือนกัน รูปวาดตัวการ์ตูนแสดงสีหน้าท่าทางต่าง ๆ นอกจากจะน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว ยังช่วยสร้างสีสัน ช่วยให้เห็นภาพชัดกว่าถ้อยคำอย่างเดียว และยังช่วยให้ข้อความที่พิมพ์ไม่ดูห้วนไปด้วย เดี๋ยวนี้บริษัทต่าง ๆ เลยพากันผลิตสติกเกอร์ไลน์ที่เป็นรูปวาดเพื่อประชาสัมพันธ์บริษัทตัวเองกันเยอะขึ้น
รูปวาดมีประโยชน์หลากแง่มุมกว่าที่คิดเยอะเลยนะคะ เพราะอย่างนี้นี่เองคนญี่ปุ่นถึงนิยมกัน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
—————————————————————————————————————————————————–
“ซาระซัง” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.