สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้แก่คนในสังคมทุกอาชีพ รวมทั้งสัตว์ใหญ่อย่าง “ช้าง” ที่อยู่ในปางช้างก็ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวมาหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งคนและช้าง จากความเดือดร้อนของทั้งคนและสัตว์ นี้ “คุณเวช-วีรเวช ศุภวัฒน์” นักธุรกิจชาวกรุง ที่ไปใช้ชีวิตที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยาวนานนับ 10 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ ถั่วคุณลุง กระเทียมแกะกลีบ Garloko ฯลฯ ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำ ได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรท้องถิ่น เลยปิ๊งไอเดียช่วยเหลือคนและสัตว์อย่างครบวงจร โดยตั้งโครงการ “โครงการคนช่วยช้าง ช้างช่วยคน” ระดมทุนช่วยเกษตรกร ด้วยการซื้อผลผลิตที่ขายไม่ได้ เอาไปให้ช้างที่อยู่ในปางช้างภาคเหนือ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งคนและสัตว์ได้อย่างครบวงจร
คุณเวช-วีรเวช ผู้ริเริ่มโครงการ “โครงการคนช่วยช้าง ช้างช่วยคน” เล่าว่า โครงการนี้เริ่มจากพี่ๆน้องๆ ในครอบครัวก่อน โดยเรามองเห็นผลผลิตทางการเกษตรที่แม่ฮ่องสอน เหลือเยอะมาก เกษตรกรขายไม่ได้และบางทีราคาตก ไม่คุ้มต่อการเก็บมาขาย จึงมีผลผลิตทิ้งเน่าเสีย เลยมีแนวคิดว่า เราน่าจะทำอะไรช่วยเกษตรกรได้บ้าง ซึ่งพี่ๆน้องๆที่บ้านเรารักสัตว์ เลยคิดกันว่า เราน่าจะไปช่วยเกษตรกร ด้วยการไปซื้อผลิตผลทางการเกษตรมาให้สัตว์ใหญ่อย่างช้างกินดีกว่าปล่อยให้เน่าเสีย เพราะปางช้างก็ขาดรายได้ จากการไม่มีนักท่องเที่ยว เงินที่เกื้อหนุนซื้ออาหารให้ช้างน้อยลง เลยคิดโครงการนี้เราจะได้ช่วยทั้งเกษตรกร และได้ช่วยช้างได้ด้วยกันทั้งคู่ “โครงการนี้เริ่มจากพี่ๆน้องๆในครอบครัวก่อน ผมทำมา 2-3 สัปดาห์แล้ว เห็นผลผลิตทางการเกษตรที่แม่ฮ่องสอนขายไม่ได้ ปล่อยทิ้งเสียพอเริ่มทำ เพื่อนของพี่ๆน้องๆก็มาช่วยกันบริจาค ซึ่งผมทำเองไปดูว่าหมู่บ้านไหนที่เขามีผลผลิตที่เหลือแล้วปล่อยทิ้งกันแล้วขอซื้อในราคาเป็นธรรม จะไม่ผ่านคน กลาง ไปซื้อเองแล้วขับไปส่งเอง สัปดาห์ละครั้ง ถ้าไปไกลก็จะจ้างคนที่มีรถไปส่ง ทำให้เขามีรายได้อีก โดยผมติดต่อปางช้าง แม่แตง ที่เชียงใหม่ และในเชียงใหม่มีสมาพันธ์ท่องเที่ยว เขาดูแลช้าง 47 ปางในเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 500 เชือก ซึ่งผมไปติดต่อทางปางช้างแม่แตง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางแจกจ่ายอีกที ไปมอบที อย่างฟักทองก็เต็มรถปิกอัพใหญ่ บรรจุได้ 4-4 ตันครึ่ง จากนั้นเขาจะบอกในไลน์กลุ่มว่ามีอาหารมาให้ช้างใครขาดแคลนก็ให้มารับไป นอกจากนี้ยังมีปางช้างที่ปาย แม่ฮ่องสอนด้วย ซึ่งที่ปายมีปางช้าง 4 ปาง มีช้าง 8 เชือก ปางช้างพวกนี้เดือดร้อนหนักเพราะนักท่องเที่ยวแทบจะเป็นศูนย์ นโยบายในการทำโครงการนี้คือจะไม่กดราคาเกษตร และโครงการนี้ต้องไม่มีคนกำไร ความหมายคือ ผมไม่เอาคนกลาง ผมไม่ชอบ ผมไปซื้อเองกับตัวเกษตรกรเสร็จแล้ว ถ้าหมู่บ้านนั้นใครมีรถคอก ส่งของ ซึ่งปัจจุบันมีงานน้อยมาก เราก็จะจ้างเขาไปส่ง ทำให้เขามีงาน เราพยายามเอาเงินให้ไปถึงคนหลายๆกลุ่ม เพราะว่ามันเป็นเงินบริจาคเราต้องทำให้มีประโยชน์ เกิดผลให้มากที่สุด พอซื้อผลผลิตจากเกษตรกรก็ส่งถึงปางช้างเลย ไม่มีใครได้ส่วนต่างจากตรงนี้ “ผู้ใหญ่ใจดี “คุณเวช-วีรเวช บอก