พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คืนความสุขให้วงการผู้ประกอบธุรกิจเมืองไทยเมื่อหัวค่ำวันพุธ 16 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ด้วยการประกาศโรดแมป 120 วัน เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด
หนึ่งในเสียงขานรับอย่างมืดฟ้ามัวดินมาจากบิ๊กแสนสิริ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปรากฏการณ์บิ๊กเซอร์ไพรส์ในครั้งนี้
Q : ข้อคิดเห็นมาตรการ 120 วัน
ผมก็เริ่มดีใจนะ เพราะผมให้สัมภาษณ์มานานแล้ว คุยมาหลายหนแล้ว ทั้งทวิตเตอร์ ทั้งช่องทางต่าง ๆ ว่า เมื่อ 4-5 เดือนก่อน จริง ๆ ทางรัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไหร่ จะคัฟเวอร์การฉีดภูมิคุ้มกันหมู่ครบ 50-70% เมื่อไหร่ ก็ประกาศไปเลยว่าอีก 180 วัน 200 วัน จะเปิดประเทศ ผมว่าอย่างน้อยที่สุด ผู้ประกอบการจะรู้ว่าเราจะกลับมาทำธุรกิจกันเหมือนเดิมได้เมื่อไหร่
เพราะฉะนั้น สถานภาพในการจ้างงานก็จะได้คงไว้ หรือบอกลูกน้องว่าตอนนี้ได้เงินเดือนอยู่ 100 บาท ขอลดเหลือ 50 บาท ไปสัก 6 เดือน พอเปิดประเทศแล้ว รายได้จะกลับมาคืนที่ 100 บาทใหม่ อย่างน้อยทุกคนจะได้มีความคาดหวังที่เป็นในทางบวก ผมว่าอันนี้สำคัญ
ตอนที่ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจผมก็ดีใจ และแปลกใจที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาพูดบอกว่า เราจะเปิดประเทศใน 120 วัน ยอมรับความเสี่ยงไปด้วยกัน คำว่ายอมรับความเสี่ยง ผมว่ามีนัยเยอะนะ ผมพูดมาโดยตลอดเวลาว่า เรื่องสาธารณสุข เรื่องของเศรษฐกิจ ภาวะสมดุลของทั้ง 2 เรื่อง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น วันนี้ที่บอกว่ายอมรับความเสี่ยง แสดงว่าท่านเริ่มยอมรับระหว่างสาธารณสุขกับเรื่องปากท้อง เรื่องของเศรษฐกิจ เพราะมันอยู่ไม่ได้หรอกแบบนี้…
ท่านบอกอีกคำหนึ่งว่า เราต้องอยู่กับมันไป ก็เหมือนกับผู้นำประเทศอื่น ๆ ที่ทำเรื่องโควิดประสบความสำเร็จ บอกว่าต้องอยู่กับมัน (โรคระบาด) ไป ประเทศไทยก็ต้องบริหารจัดการไป อาจจะขยายวันล็อกดาวน์นิดหน่อย เช็กความเข้มงวดหรือทำอะไรไป อย่างที่นิวยอร์ก เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 64) ก็เปิดเมืองอย่างเต็มที่แล้ว ผมว่าอันนี้มันมีนัยสำคัญมากเลย
ถ้าเกิดเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง อย่างน้อยเขารู้แล้ว เดี๋ยวประเทศเปิดแล้ว เดี๋ยวจะกลับมาขายหมูปิ้งได้ จะกลับมาออกร้านได้ จะกลับมาเปิดร้านอาหารได้ เริ่มทำออร์เดอร์ได้ เปิดโรงงานได้ ส่วนรายใหญ่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคนที่อ่อนแอ คนตัวเล็ก สามารถเดินไปข้างหน้าได้ กำลังซื้อกลับมาก็มาซื้อ ธุรกิจที่ผมทำอยู่ ที่อยู่อาศัยเดี๋ยวมันก็กลับมาได้
พอบอกอย่างนี้ 120 วัน ผมมีเวลาที่จะสปีดอัพเรื่องโปรดักชั่น การเตรียมแคมเปญการตลาด การทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งอันนี้ที่ออกมาประกาศ ผมก็อยากเป็นกำลังใจให้ ถ้าทุกคนได้เห็นว่า 120 วัน เป็นนิมิตหมายอันดี ผมว่าเขาก็อาจจะเริ่มมีการจ้างงาน เริ่มมีการใช้จ่ายเงิน ก็ทำอะไรที่กระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาได้
แล้วผมก็จะแยกอีกอันหนึ่ง ผมว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกูล) หรือท่านนายกฯประยุทธ์ ท่านถูกตำหนิเยอะเรื่องวัคซีน ผมว่าการที่ท่านกล้าออกมาพูดว่า 120 วันเปิดประเทศได้ แสดงว่าท่านก็มั่นใจว่าวัคซีนจะมาตามตารางที่สัญญาไว้ เพราะฉะนั้น ผมว่าคนก็น่าจะสบายใจขึ้น
ก็อยากจะเอาใจช่วย แล้วก็อยากจะขอแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกว่า อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะกลับมาสู่ภาวะปกติในการทำมาค้าขายแข่งขัน แล้วก็อยู่กับโรคร้ายด้วย ก็พยายามจัดการกันไป
Q : มีโรดแมปหรือข้อเสนออะไรสำรองไว้ไหม เพราะสถานการณ์โควิดยังเต็มไปด้วยปัจจัยลบอยู่
ผมว่าวันนี้ท่านนายกฯ ท่านคงมั่นใจ แต่ก็เห็นใจท่านหน่อยแล้วกัน เห็นใจรัฐบาลนิดหนึ่งว่าก็ต้องมีรายละเอียดที่จะต้องแจ้งออกมา ว่าจะเปิดอย่างไร จะทยอยเปิดอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดี ๆ 120 วัน เริ่มจาก 0 จากไม่เคยเปิดเลย แล้วจะเปิดเต็มที่ ผมคิดว่าคงต้องมีการค่อย ๆ เปิด บางอย่างอาจจะเปิด 60 วัน 90 วัน
เป้า 120 วันตามความเข้าใจของผมคือ full open เปิดอย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าน่าจะมีการกำหนดเส้นชัยคือ 120 วัน แต่ก่อนหน้านี้เราก็ต้องวิ่งกันไป เดินกันไปบ้าง ผมก็หวังว่าทีมท่านนายกฯคงจะมีแผนงานออกมา
Q : กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ยังต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่าง SMEs ต้องทำอย่างไรบ้าง
ทางท่านนายกฯเองเมื่อ 2 วันก่อนก็เพิ่งออกมาพูดเรื่องต้องลดพรีโลน เพอร์ซันนอลโลน เรื่องดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรืออะไร ทุกอย่างต้องลดหมด อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเปิดประเทศ 120 วัน แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อของคนกลับมา เป็นการเยียวยาผู้ที่อ่อนแอกว่า อันนี้สำคัญ ยังไงก็ต้องทำ เพราะว่าผมก็เรียกร้องมานาน แล้วก็เสนอแนะมานาน พอมันช้า ท่านนายกฯก็เข้าไปจัดการเอง
Q : ไหน ๆ นายกฯ (ประยุทธ์) ก็แตะแบงก์ชาติแล้ว อยากให้แก้ปัญหาของอสังหาฯเรื่อง LTV ด้วยไหม
เรื่องนี้ (LTV-loan to value มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย) ผมไม่อยากพูด พูดไปก็เหมือนหนังฉายซ้ำครับ พูดไปก็หาว่าผมหาประโยชน์ใส่ตัวเอง วันนี้พูดเรื่องแมโครก่อนดีกว่า ผมว่าวันนี้เอานัยหลักก่อนว่า ภาคส่วนที่อ่อนแอกว่าก็ต้องทำต่อไป เรื่องลดดอกเบี้ย เอาเงินใส่กระเป๋าเขา หรือว่าร้านอาหารจะต้องเปิดถึง 4-5 ทุ่ม ให้ดื่มสุราได้บ้าง ให้นั่งได้ ไม่ใช่โต๊ะละ 1 คน ผมว่าก็ต้องปรับปรุงกันไป ต้องมีมาตรการเสริมออกมาอยู่ตลอดเวลา
แล้วมาตรการที่รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ (พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ) พูดถึงเรื่องการลงทุนของต่างชาติ ที่จะรับต่างชาติมาลงทุน แก้กฎหมายทางด้าน immigration (ตรวจคนเข้าเมือง) เหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบที่คู่ขนานไปด้วยกัน
Q : นโยบาย 120 วัน ในแง่ของพื้นที่กรุงเทพฯกับต่างจังหวัด โอกาสของการเปิดประเทศเท่ากันไหม ทำยังไงถึงจะเปิดได้พร้อมกัน
ผมว่าที่เราทำกันไว้ว่าจะมีวัคซีน 50 ล้านโดส 70 ล้านโดส ต้องกระจายให้เหมาะสม แน่นอนเรดโซนทั้งหลายก็ต้องถูกเทกแคร์ไปก่อน ถ้าเรดโซนไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ถูกเทกแคร์ไปแล้ว โอกาสของการที่จะมีการกระจายโรคก็อาจจะลดน้อยลงไป ทำให้ทยอยเปิดกันไปได้
อีกอย่างถ้ากรุงเทพฯสามารถรับวัคซีนได้เร็วมาก การเป็นพื้นที่เรดโซนกรุงเทพฯ (พื้นที่เสี่ยงสูงสุด) ก็จะกลายเป็นสีส้ม สีหลือง แล้วก็กลายเป็นโซนปลอดภัย พอเป็นโซนปลอดภัย คนต่างจังหวัดที่กลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็จะกลับมาทำงานต่อได้ มันก็จะลดความเสี่ยงลงไปเยอะ อันนี้เราก็ต้องมองในแง่บวก แล้วก็มองในแง่การมีความหวังด้วยเหมือนกัน
ผมว่าในอัตราที่พยายามฉีดกันวันละ 3-4 แสนโดส ก็น่าจะไปได้ดี ลูกสาวผมก็ไปฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กลับมาบ้านก็ชมว่า ระบบงานระดับโลกเลย ท่านรัฐมนตรี (อนุทิน ชาญวีรกูล) ทำได้ดีมาก มีการบริหารจัดการดีมาก ไม่ต้องคอยนาน ผมว่าก็น่าชื่นชมนะครับ
Q : แสนสิริมีอสังหาฯในภูเก็ตเยอะ มีลุ้นไหมกับภูเก็ตแซนด์บอกซ์
มีลุ้นครับ แต่ก็อยากทราบรายละเอียดนิดหนึ่ง ส่วนตัวผมมองว่า 14 วันกักตัวนานเกินไปนิดหนึ่ง แล้วจริง ๆ ต้องอย่าลืมว่าหน้าฝนของภูเก็ตไม่ใช่ช่วงพีกของการท่องเที่ยวของต่างประเทศ เพราะฉะนั้น เราต้องต่อสู้กับประเทศสเปน ประเทศหนาวที่เป็นหน้าร้อนของเขา ซึ่งคนเมืองหนาวก็อยากไปเที่ยวชายหาด ซึ่งไม่ได้มีแค่ภูเก็ตอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เรื่องของการเปิดประเทศ เรื่องของการที่จะให้กลับมาใหม่ เราก็ต้องแข่งขันกับหลาย ๆ ประเทศ มันก็ต้องดูกันต่อไปด้วยเหมือนกัน
เรื่องการกักตัว ผมว่าถ้าจะให้ดีสัก 5 วัน 7 วันก่อน แล้วรอดูว่าเดือนสิงหาคม, กันยายน จะลดเวลาเหลือสัก 10 วันก็ได้ เพราะจะมีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เข็ม 2 ก็ทยอยมา ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวัคซีน การที่ท่านนายกฯมาบอก 120 วัน ท่านก็คงรู้ว่าน่าจะมีวัคซีนทางเลือก อย่างเช่น ซิโนฟาร์มของสภาอุตสาหกรรมฯกับสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งก็มีคนสั่งซื้อไปเยอะ
พรุ่งนี้ผมว่าเราต้องมีความหวังครับ เราทุกคนต้องมีกำลังใจ
Q : 120 วันเป็นสัญญาณที่ดีที่สุดในโควิดรอบ 3 เลยใช่ไหม
ถูกต้องครับ เป็นสัญญาณที่ดีที่สุดครับ รัฐบาลก็มีความชัดเจน แต่ก็ต้องทำให้ได้แล้วกัน ไม่ได้ท้าทาย เพียงแต่ว่าถ้าพูดแล้วก็ทำให้ได้ ผมรอท่านอยู่
Q : ข้อพึงระวัง 3 ข้อ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคการเปิดประเทศ
เรื่องการเข้ามาถึงของวัคซีน เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการแบ่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าวัคซีนมาเยอะพอ ทุกจังหวัดสามารถฉีดได้วันละเป็นหมื่น ๆ คน ฉะนั้นยิ่งฉีดได้เร็วยิ่งดี แล้วก็เรื่องของการการ์ดตก เรื่องของการที่พอฉีดแล้วไม่เว้นระยะห่าง มีความประมาท คลัสเตอร์ต่าง ๆ ถ้าไม่ล้างมือ ผมว่าอย่างนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องคำนึงถึง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เรื่องคนที่อ่อนแอกว่าต้องถูกเยียวยาในระยะเวลาอีก 120 วัน เพื่อให้เขาดำรงชีวิตและทำการค้าขายต่อไปได้
Q : สถานการณ์อสังหาฯครึ่งปีหลังจะเป็นยังไง
ครึ่งปีแรก 2564 ดีครับ อย่างที่เห็นบริษัทใหญ่หลายบริษัทก็ขายได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการบ้านแนวราบ สถาบันการเงินก็ยังซัพพอร์ตอยู่ ดอกเบี้ยก็ยังต่ำ ครึ่งปีหลังก็คิดว่าไตรมาส 3/64 ยังเหมือนกันกับไตรมาส 1/64-2/64 แต่ผมเชื่อว่าไตรมาส 4/64 จะกลับมา จะเป็นช่วงเวลาที่ดีไม่ใช่แค่อสังหาฯอย่างเดียว แต่ของหลาย ๆ ธุรกิจ
Q : จะกลับมาด้วยกำลังซื้อในประเทศหรือต่างประเทศ
กำลังซื้อในประเทศแน่นอนครับ กำลังซื้อในประเทศมาก่อน จากนั้นไตรมาส 1/65 กำลังซื้อต่างประเทศก็น่าจะกลับมา พร้อมทั้งนโยบายที่มีการกระตุ้นการลงทุนของรองนายกฯ (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ผมเชื่อว่าอันนี้เป็นอะไรที่ดี แล้วก็น่าจะช่วยส่งเสริมเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา
Q : ก่อนหน้านี้มีการซาวเสียงเอกชนไหมเรื่องแพ็กเกจ 120 วัน
ไม่มีครับ ท่านจัดการเองเลยครับ ไม่ต้องซาวเสียงหรอก ท่านรู้อยู่แล้วจะทำอะไร มากคนมากความ ดีแล้วเด็ดขาดบ้าง