เปิดใจ “นักพากย์นิทาน” โชว์ความสามารถ พากย์เสียงตัวการ์ตูนกว่า 100 เสียง ภายใน 10 นาที
จนคนดูทะลัก 2 ล้าน ภายในเวลาไม่กี่วัน หยิบความชอบตอนเด็กมาค้นหาตัวเอง จนกลายเป็นดาว TikTok คน follow ทะลุล้านในที่สุด พร้อมสะท้อนบุคคลมีชื่อเสียง พากย์หนัง-การ์ตูน = ฆ่านักพากย์มืออาชีพทางอ้อม!?
ชีวิตเปลี่ยนเพราะ TikTok
“คลิปแรกที่แยมลง เป็นคลิปพากย์เสียงการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่แยมหัดพากย์ ก็เป็นคลิปประมาณว่า ‘เธอเป็นเจ้าหญิงแบบไหน แบบไหนเหรอ มีเส้นผมวิเศษไหม ไม่ เมืองวิเศษ ไม่ พวกสัตว์คุยกับเธอรึเปล่า ไม่ โดนวางยาพิษล่ะ ไม่ แล้วประตูล่ะ ไม่ พวกพี่โอเครึเปล่า จะให้เรียกตำรวจไหม’
เป็นคลิปนั้นเลยค่ะ ที่พากย์หลายเสียงแล้วทุกคน โห! คนเดียวทั้งเรื่องเลยเหรอ แบบทำไมคนพากย์น่ารักจัง”
กลายเป็นอีกหนึ่งไวรัลในโลกโซเชียลฯ ที่หลายคนน่าจะต้องเคยดูมาก่อน และสิ่งหนึ่งที่ต่างจดจำได้ ก็คือ “เสียงพากย์” ของตัวการ์ตูนแต่ละตัว ที่ต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างออกไป ซึ่งบางตัวการ์ตูนนั้นมีเสียงทุ้ม บางตัวมีเสียงสูง หรือบางตัวมีความสดใส
โดยเธอผู้นี้ สามารถเลียนเสียงของตัวการ์ตูนได้มากกว่า 100 ตัว จนคนดูทะลัก 2 ล้านภายในไม่กี่วัน ซึ้งเธอมักโชว์ความสามารถให้ได้เห็นเรื่อยๆ ในแอป TikTok และ YouTube
“รู้สึกภูมิใจ ภูมิใจที่แยมสามารถทำได้ ปกติที่แยมทำอยู่ คือ การพากย์นิทาน แล้วแยมภูมิใจที่สามารถนำการพากย์มาผสมผสานการเล่านิทานได้ เลยทำให้มันอยู่ตรงกลาง
อย่างภูมิใจที่ 2 คือ แยมภูมิใจที่แยมได้สร้างผลงานนิทานใหม่ๆ เพราะว่าในนิทานที่แยมทำปกติในหนังสือนิทาน โชคดีหน่อยถ้ามีภาพเราก็สามารถเห็นคาแรกเตอร์ตัวละครได้ว่า ตัวละครเป็นยังไง เราสามารถจินตนาการเสียงได้เลย แต่ถ้าเป็นหนังสือบางเล่มมีแค่เครื่องหมายคำผิดเองค่ะ
แยมต้องใส่คาแรกเตอร์ลงไปในนั้น นี่เลยเป็นที่มาว่า เอ๊ะ! ทำไมแยมถึงพากย์ได้ 100 เสียง มันต้องฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีทักษะเอาไว้ใช้ในการออกแบบคาแรกเตอร์เสียงในนิทานค่ะ”
แยม – วรรญา ไชยโย นักพากย์นิทาน PodCast มากความสามารถ วัย 26 ปี เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live ถึงเส้นทางความฝันอาชีพนักพากย์ ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพไม่ยั่งยืน เธอมองว่าความอดทนและความพยายามเท่านั้น ที่เป็นบันไดสู่ความสำเร็จในเส้นทางแห่งนี้
“แยมเพิ่งเริ่มเล่นช่วงโควิดที่ผ่านมาเองค่ะ โควิดรอบแรกตอนนั้น คือ อยู่ห้องปกติ ปกติแล้วแยมจะเป็นคนชอบพากย์เสียงอยู่แล้ว คือ หัดพากย์อยู่แล้ว เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นคลังเสียง สมมติเราพากย์ได้ 20 เสียง เราจะมี 20 เสียงนี้เอาไว้ใช้กับนิทานที่เราจะเจออีก 100-200 เรื่องข้างหน้า
แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มันเหมือนเป็นโอกาสที่ทำให้แยมได้แสดงออกในส่วนที่เราฝึก ปกติเราก็ฝึกไปคนเดียว แต่อันนี้หยิบมือถือขึ้นมาแล้วก็ถ่าย ฝึกลง TikTok แล้วก็มีน้องๆ เหมือนเป็นผู้ช่วย ก็ขอเข้ามาว่าพี่แยมพากย์ตัวนี้ให้หน่อย พี่แยมพากย์ตัวนั้นให้หน่อย เราก็เหมือนได้ฝึกกับคนที่อยู่ใน TikTok ด้วย
ไม่คิดว่าจะดังด้วย เพราะเราก็ไม่ใช่นักพากย์การ์ตูน หรือไม่ใช่นักพากย์หนัง เราก็เป็นนักพากย์นิทานตัวน้อยๆ คนหนึ่ง เราก็ไม่คิดว่าคลิปนั้นจะเป็นกระแส หลังจากแยมลงคลิปแรกในช่วงโควิด ก็มีคนติดตามวันแรกหมื่นคน เป็นยอดที่ตกใจมากเลยค่ะ
ผลตอบรับจากคลิปแรกก็มีคนขอเข้ามา พี่พากย์ตัวนี้ได้ไหม พากย์ให้หนูหน่อย ลองพากย์ให้หนูฟังหน่อย เราก็ได้ ขอมาเราก็ทำให้
แล้วเป็นคลิปถามตอบอย่างนี้ค่ะ แยมจะถามตอบอย่างนี้เรื่อยๆ ถือว่าเราได้ฝึกเสียงของเราด้วย พอเราฝึกได้ มันก็เหมือนเป็นคลังเสียง เพื่อให้เราเอาไว้ใช้ในนิทานที่เราเป็นผู้ผลิตรายการด้วย ก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มีผู้ติดตามล้านคน
ส่วน YouTube คลิปแรกๆ ที่แยมเปิดตัว คือ เปิดตัวด้วย 100 เสียงเลยค่ะ คือเป็นคลิปที่ทุกคนขอมาใน TikTok นั่นแหละค่ะ ก็รวบรวมเสียงที่เราพากย์ได้ อันนี้เสียงเราพากย์ได้ แล้วก็รวมเป็นคลิปเดียว แล้วก็ปล่อยใน YouTube เลยค่ะ คนดู 2 ล้านกว่า ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะได้ผลตอบรับดีขนาดนี้”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กับเด็กต่างจังหวัดสาวที่ค้นหาตัวเอง เดินทางสู่เส้นทางการเป็นนักพากย์ สร้างอรรถรสผ่านเสียงพากย์นิทาน รวมทั้งการเลียนเสียงการ์ตูนผ่านช่องทาง “@Wanyayam”
จนมีคนติดตามกว่า 1 ล้านคน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักกระบวนการทำงาน รวมถึงวิธีการหาเอกลักษณ์ตัวเองให้เจอ
“ฝึกไปเรื่อยๆ แยมไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้อีกกี่เสียง แต่ คือ แยมก็ยืนยันว่าแยมจะฝึกไปเรื่อยๆ เพราะว่าเราสนุกกับการที่เราได้ทำเสียงตัวละครใหม่ๆ เราสามารถทำได้ เราก้าวผ่านสิ่งที่เป็นอยู่ ก้าวข้ามสิ่งที่จำกัดของเรา สนุก ท้าทาย
มันเป็นอาชีพของแยมอยู่แล้วค่ะ แยมต้องบอกอย่างนี้ก่อน แยมทำตั้งแต่สมัยเรียนจบ ตั้งแต่สมัยทำโปรเจกต์ ย้อนกลับไปตอนที่แยมทำโปรเจกต์ ตอนนั้นแยมทำโปรเจกต์นิทานเสียงให้กับเด็กพิการทางสายตา
พอแยมส่งโปรเจกต์นั้นปุ๊บ ก็มีผู้ใหญ่เห็นแววก็เลยดึงตัวไปเป็นผู้ผลิตรายการของที่ ThaiPBS PodCast คราวนี้เลยไม่ได้แล้วนะ เราทำเล่นๆ ไม่ได้แล้วนะ มันคือชีวิตการทำงานจริงๆ เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้แยมต้องผลักดันตัวเองจากการที่เป็นเด็กเฉยๆ เป็นเด็กที่ฝึกบ้างไม่ฝึกบ้าง เราต้องฝึกทุกวัน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เก็บประสบการณ์
ค่อยๆ เก็บเสียง เก็บคาแรกเตอร์ตัวละครใหม่ๆ การ์ตูนเรื่องใหม่ๆ ดูซิตัวนี้เป็นยังไง พอเราเรียนรู้ได้แล้ว เราก็นำมาเป็นคลังเสียงของเรา เพื่อนำไว้ใช้ในนิทานอีกร้อยเรื่อง สองร้อยเรื่อง หรือเหมือนเรื่องในเรื่องต่อไป
แยมคิดว่าน่าจะเป็นความเป็นตัวเอง บางทีก็พูดผิดบ้างพูดไม่ถูกบ้าง บางทีเราเป็นคนที่สมาธิชั้นเดียว บางทีคนพูดอะไรมา เราก็อ๊องๆ ใส่ไป อันนี้อาจจะเป็นธรรมชาติที่คนเข้าถึงเราได้ง่าย และด้วยความที่เราเป็นคนอารมณ์ดีด้วย คนก็เลยบอกว่าดูทีไร ยิ้มทุกทีเลย ชอบจังเลย บางทีก็ไม่ได้เข้ามาฟังเสียงพากย์หรอก
บางทีก็มีคนเข้ามาขอแปลกๆ อย่างขอเสียงนายกหน่อย ขอเสียงเห็ดงอกหน่อย เราก็ทำล้อเลียนไป อ่ะเป็นไงๆ เราอ่ะ ขอเสียงอะไรมา ฮะ (จากเสียงผู้หญิง เสียงก็เปลี่ยนกลายเป็นเสียงนายกฯ ที่เราต่างคุ้นเสียงโดยทันที) ก็แบบเล่นๆ ไป อย่างบางคนขอเสียงเห็ดงอก เราก็เสียงเห็ดงอกเป็นยังไงเหรอ
เราก็แกล้งๆ ทำไป หรือ เสียงแบบทารกร้องหน่อย เราก็เอ๊ะ เด็กทารกร้องนี่ขอเล่นหรือขอจริงก็ไม่รู้ (ทำเสียงร้องเด็ก)ก็ขอเราก็กล้าทำค่ะ”
เหยื่อคอมเมนต์ พากย์ไม่ดีพร้อมปรับปรุง!
ด้วยความที่เธอชื่นชอบการพากย์ และตัวการ์ตูนโดราเอมอน ตั้งแต่ตอนเด็ก และฝึกทักษะการพากย์มาโดยตลอด พร้อมเล่าเรื่องราวในชีวิตกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เธอต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ต่อสู้กับชีวิตกว่ามาถึงจุดที่เป็นนักพากย์นิทาน วัย 26 ปี
“ถ้าย้อนไปอายุเท่าไหร่ แยมชอบดูโทรทัศน์มาตั้งแต่เด็กๆ ดูแล้วก็จำ จำได้ว่าเจ้าตัวนี้พูดอะไรในประโยคต่อไป แล้วเอาช้อนเอาตะเกียบมาคุยกัน แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันคือการพากย์ เราก็เก็บความชอบนั้น มาจนถึงช่วงสมัยมหา’ลัย
ช่วงสมัยมหา’ลัยในคณะเขาจะให้ทำโปรเจกต์จบก่อนที่เราจะจบ ก็เลยเป็นโอกาสที่เราจะได้เอาความชอบมาใส่โปรเจกต์จริงๆ ตอนนั้นเลือกทำเป็นโปรเจกต์นิทานเสียงให้กับเด็กที่พิการทางสายตา ก็เลยถ้าเล่าเป็นนิทานเฉยๆ มันก็ธรรมดา
ก็ใช้เทคนิคพากย์จริงจัง อยู่กับมัน ประมาณปีกว่าๆ เองที่ตอนนั้นฝึกแบบจริงจังเลย ก็เอานิทานมารวมกับการพากย์ ก็เลยเป็นการพากย์นิทานแล้วหลังจากนั้นได้มีโอกาสทำงาน ในสายของการพากย์นิทาน ผลิตรายการเต็มตัวเลยค่ะ”
จุดที่ทำให้มัดใจหลายๆ คน มาจากความเป็นตัวเองที่เข้าถึงง่าย รวมทั้งเอกลักษณ์การให้เสียงเข้าถึงตัวละครนั้นๆ การไม่ละทิ้งความฝัน จนเรียกได้ว่าราวกับต้นฉบับ ซึ่งเธอยอมรับว่า การพากย์ได้หลายๆ คาแรกเตอร์ได้นั้น เคยสร้างความไม่มั่นใจให้เธอเหมือนกัน เพราะถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีเอกลักษณะเป็นของตัวเอง
“อันนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงที่แยมฝึกพากย์แรกๆ ยังไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงเราเป็นอะไร ช่วงที่เราฝึกพากย์แรกๆ คือ อยากเป็นนักพากย์
ตอนนั้น คือ โพสต์เหมือนกัน แต่โพสต์ในเฟซบุ๊กช่วงที่ทำแรกๆ เลย ช่วงปี 4 ตอนนั้นฝึกเล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นมีคนคอมเมนต์ว่ามันก็ดีนะ พากย์อย่างนี้ก็ดี แต่มันไม่มีเอกลักษณ์หรอก
การที่เราพากย์ได้หลายๆ เสียง กับกลายเป็นว่ามันไม่มีเอกลักษณะ แล้วมันมีวันหนึ่งที่แยมต้องทำโปรเจกต์ต้องอัดเสียง แยมไม่มีแรงที่จะอัดเสียงเลย คือ เวลาอัดผิด ตบหน้าตัวเองๆ แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำๆ ไป มันไม่มีเอกลักษณ์อยู่ดี รู้สึกกดดันตัวเอง รู้สึกแย่
แต่ว่ามีวันหนึ่งที่แยมได้มีโอกาสไปที่โรงเรียนสันติจินตนา ที่เป็นโรงเรียนตาบอด แล้วน้องๆ ชื่นชอบเสียงของเรามากเลย เราได้พากย์หลายๆ ตัวละคร เราได้เล่าหลายๆ ตัวละคร
กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ ชื่นชอบเราขนาดนี้ ทำไมเราไม่ชื่นชอบตัวเองบ้างล่ะ ก็เลยเอาใหม่ค่ะ ตั้งต้นใหม่ แล้วหลังจากนั้น คือ เรามี mind set แบบใหม่แล้ว
เราก็เลยดำเนินการมาเรื่อยๆ เราฝึกมาเรื่อยๆ ไม่สนแล้ว่าใครจะว่าเราไม่มีเอกลักษณ์ นี่แหละคือความเป็นเอกลักษณ์ของฉัน คือ สิ่งที่ไม่เป็นเอกลักษณ์ที่เขาพูดนั่นแหละค่ะ
ตอนแรก คือ เราเครียดมาก เรารู้สึกว่า เฮ้ย! เราเลือกทางถูกแล้ว เรามาทางนี้ คือ ตอนแรกทุกคนอยากให้แยมเป็นนักข่าว เป็นอะไรมาทางนี้ แต่เราเลือกแล้วนะ ทำไมเราต้องทำพลาด
มันเป็นจุดที่แยมโทษตัวเองบ่อยมาก ช่วงนั้น คือ ดิ่งไปเลย ไม่อยากทำอะไรเลย ฉันเลือกไม่ถูกเหรอ ฉันผิดเหรอ”
สำหรับการอัดคลิปเสียงผ่านช่องทาง TikTok และ YouTube ของเธอคนนี้ ยอมรับว่าการเช็กคอมเมนต์เป็นสิ่งที่สำคัญ ต่อการพากย์เสียง
“สำคัญ เพราะว่าแยมจะยึดจากคอมเมนต์เป็นหลักค่ะ เหมือนอย่างที่แยมบอกไปว่าแยมต้องฝึกอยู่ตลอด การที่เราแคร์คอมเมนต์ มันทำให้เราพัฒนาต่อ เพราะฉะนั้นเราจะไม่แคร์คอมเมนต์เลยก็ไม่ได้
อีกอย่างคือเราจะได้รู้ feedback ว่าตอนนี้กระแสการ์ตูนอะไรกำลังมา เราก็ค่อนข้างที่จะอายุเยอะแล้ว การ์ตูนที่เราดูสมัยเก่าๆ โดเรม่อน มิกกี้เมาส์ การ์ตูนเก่าๆ มันก็มีแค่นั้น แยมก็ฝึกอยู่แค่นั้น แต่ว่าเด็กๆ สมัยนี้ คือ เขารู้การ์ตูนหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นดาบพิฆาตอสูร อะไรดังๆ ในสมัยนี้เขาจะขอเข้ามา
เราก็เอ๊ะ! ชื่อตัวละครแปลกๆ ลองเสิร์ทหา ลองฝึกตามสิ แล้วก็ทำให้น้องๆ เราก็ได้ฝึกด้วย น้องๆก็ได้เสียงที่ขอมาด้วย”
แต่ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงกระแสในแง่ลบ นักพากย์นิทานวัย 26 ปี เปิดเผยความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ว่าทำให้รู้สึกโทษตัวเอง และจมกับความรู้สึกแย่ๆ นั้น
“เจอหลายคอมเมนต์ค่ะ เขาก็จะบอกว่าเสียงไม่เป็นเอกลักษณ์ พากย์ก็ไม่เห็นจะเหมือน พยายามไปทำไม เหมือนบอกให้หยุด เสียงมันยังไม่ดีนะ เสียงห่วยแตกมากเลย
แต่ถ้าเกิดแยมหยุดอยู่ตรงนั้น แยมก็ไม่มีวันนี้ ก็บอกกับตัวเองตลอดว่าขอบคุณที่สามารถก้าวความกลัวนั้นมาได้ ก้าวข้ามความกังวลตรงนั้นมาได้ ต้องขอบคุณตัวเอง
มันอยู่ที่แบบกำลังพลิก กำลังหาตัวเอง กำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ ช่วงที่จะมาทำงานเสียง พอผ่านช่วงโปรเจกต์มาได้ ก็เลยไม่เอาแล้ว เราต้องคุยกับตัวเองใหม่แล้วนะแยม ว่าเราจะทำอะไรต่อจากนี้ ก็เลยไม่สนแล้ว ใครจะว่าอะไรไม่ต้องไปสนใจ
อาจจะเป็นแค่ลมที่ผ่านเข้ามา บางวันมันก็จางหายไป เพราะฉะนั้นอย่าเอามาใส่ใจ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ก็พอแล้วค่ะ”
เรื่องราวของเธอคงพิสูจน์ได้ว่า การไม่ทิ้งความฝันไว้ข้างทาง เมื่อโซเชียลฯ ทำให้พบจุดเปลี่ยนของชีวิตเพราะกว่าจะค้นพบเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ เธอเคยหลงทางกับคอมเมนต์ลบๆ
“ตอนนั้นอยู่คนเดียว อยู่กับความคิดของตัวเอง …วันนี้แกจะเฟลใช่ไหม เฟลเลย ร้องไห้เลย พรุ่งนี้เอาใหม่ อันนี้คือการฝึกตัวเอง การบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร มันยังมีพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ไม่ได้ เอาใหม่ วันนี้ไม่ได้พรุ่งนี้เอาใหม่ เริ่มใหม่
เป็นเดือนเหมือนกันนะคะ ไม่กล้าที่จะทำงาน ไม่กล้าที่จะออกเสียง ไม่กล้าที่จะพากย์ เพราะเรารู้สึกว่าฉันทำไปก็ไม่มีเอกลักษณ์ ฉันทำไปมันก็ห่วยแตก ฉันทำไปมันก็พลาด มันก็ไม่เหมือน
เรารู้สึกเฟลกับตรงนั้นมาก แต่พอเราไปเห็นโลกกว้างนอกเหนือจากคอมเมนต์ เราไปเจอโลกจริงๆ โลกที่เป็นเด็กที่รับฟังเราจริงๆ
เห็นเด็กที่รอฟังเสียงเราจริงๆ เฮ้ย! เขาชอบเสียงเรามากนะ ทำไมเราถึงทำร้ายตัวเองขนาดนี้ ทำไมเราถึงไม่ชอบเสียงตัวเอง
เราก็ได้บอกตัวเองว่าเอาใหม่ มันไม่ได้มีคอมเมนต์ที่ทำให้เราหยุด มันมีเด็กๆ มันมีอีกร้อยหลายพันชีวิต ที่เขาอยากจะเห็นเราพัฒนาไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ เธอยังสะท้อนถึงการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในมือ รวมถึงการคอมเมนต์ต่างๆ อาจจะเป็นการทำร้ายคนอื่น หรือคนที่อยู่ในช่วงต่อสู้กับความฝันของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
“ถ้าจะบอกว่าให้มองข้ามมันก็ยาก เพราะว่าเราก็มองข้ามไม่ได้ ถ้าเจอคอมเมนต์ไม่ดี อ่านไว้ได้แต่พยายามอย่าเก็บเข้าไว้ค่ะ อ่านแล้วปล่อยผ่านค่ะ
ถ้าเป็นคอมเมนต์ที่ไม่ดีให้เราปรับปรุง เราเอามาปรับแก้ แต่ถ้ามันเป็นคอมเมนต์ที่อันนี้เป็นเหตุหรือเป็นผล หรือแค่พูด ต้องแยกแยะให้ออก ว่าคอมเมนต์เพื่อติหรือคอมเมนต์เพื่อว่าเราไปงั้นๆ
เราต้องแยกให้ออก พอเราแยกออกเสร็จแล้ว อันไหนไม่ดีเราเอามาปรับปรุง อันไหนที่เขาว่าเรา เหมือนว่าไปเฉยๆ …ถุย ห่วยแตก ก็ปล่อยทิ้งไปค่ะ ถือว่าเป็นสถานที่ให้เขาแวะเข้ามาคอมเมนต์
เราบังคับใครไม่ได้ ขนาดบางทีเรายังบังคับตัวเองไม่ได้เลย เราก็บังคับคนอื่นไม่ได้เหมือนกัน เราก็คิดซะว่าไม่เป็นไร โลกใบนี้มันอาจจะมีอะไรที่เลวร้าย เขาอาจจะโมโหหิวมาจากไหนก็ไม่รู้
แล้วเขามาเจอคลิปเรา เขาอาจจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ที่เขาอาจโมโหหิวตอนนั้นก็ได้ เขาก็เลยพูดออกมา เราแค่ทำอะไรไม่ถูกใจเขานิดเดียว แต่จริงๆ เราไม่ได้ผิดอะไรค่ะ อย่าไปคิดมากกับมัน”
นี่แหละคือจุดขายของ “นักพากย์”
“สังเกตยังไงเหรอคะ มอนิเตอร์ตัวเองค่ะ แยมใช้การมอนิเตอร์ตัวเอง การมอนิเตอร์ตัวเอง คือ คุยกับตัวเองหน้ากระจก อย่างเช่นเสียงพากย์ของแยม แยมก็จะอัดลงมือถือเพื่อฟัง พอลงอัดมือถือฟัง เราว่าเราโอเคแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะโอเคด้วยรึเปล่า ก็ลองอัดเป็นวิดีโอลง Facebook ลง TikTok
พอคนอื่น Feedback ค่อนข้างที่จะดี ทำต่อเรื่อยๆ อันนี้เป็นจุดที่ทำให้แยมรู้ว่า อันนี้เป็นจุดแข็งของเรา ว่าเราสามารถพากย์เสียงได้
พอเราพากย์เสียงได้ เมื่อก่อนถ้าเราย้อนดูคลิปเก่าๆ แยมจะความรู้สึกไม่เป็นตัวเองเลย จะสวัสดีค่ะ วันนี้เรามาพบกัน (ทำเสียงที่ไม่เป็นตัวเองให้ฟัง) คือมันไม่มีความธรรมชาติ พอเราทำไปเรื่อยๆ เหมือนเราเล่นกับคนที่เขาเป็นแฟนคลับเรา มันเริ่มเป็นธรรมชาติมากขึ้น
แล้วแยมก็จับจุดได้ว่านี่แหละ ความเป็นธรรมชาติมันทำให้คนชื่นชอบในตัวเรา จากปกติที่พากย์เสียงได้เฉยๆ แต่อันนี้พากย์เสียงได้ โก๊ะด้วย แถมป่วงด้วย ก็มีคนติดตามจากความโก๊ะ ความป่วงนั้น บางทีคนมาติดตามด้วยความโก๊ะมากกว่าความพากย์เสียงอีกค่ะ
ถ้าคนจะชอบใคร ชอบจากความเป็นธรรมชาติ ความเป็นตัวตน การเข้าถึงง่ายของแยมนี่แหละ ความเป็นตัวตน ความเป็นตัวเอง เรารู้สึกว่าเราอารมณ์ดี เราก็สามารถส่งต่อความอารมณ์ดีนั้นไปสู่คนอื่นได้เหมือนกัน”
ฝ่าดงมรสุมชีวิต สู่ความฝัน
ฟังแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องไม่ยากนัก ที่ใครคนนึงจะลุกขึ้นมาคว้าความสุขในชีวิต แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังภายใต้รอยยิ้มผู้หญิงคนนี้ เคยผ่านมรสุมชีวิตครอบครัว ที่เจ้าตัวเผยออกมากว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ก้าวผ่าน
“คุณพ่อคุณแม่แยมเสียไปแล้วค่ะ คุณพ่อเสียไปตั้งแต่ตอน ม.3 คุณแม่เสียไปตอนช่วงที่แยมทำงานพอดี ช่วงที่แยมกำลังเริ่มทำงานช่วงที่ฝึกงาน แม่แยมก็เสียเลย
มันต้องพยายามที่ส่งเสียตัวเองเลี้ยงดูตัวเอง เพราะว่ามันไม่มีใครช่วยเหลือเราแล้ว เราต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง
ตอนคุณพ่อเสียก็ยังมีแม่ แล้วก็น้องตอนนั้น 2 ขวบ ตอนที่คุณพ่อเสียอายุ 15 ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นเสาหลัก คือ เราไม่ได้เตรียมใจว่าพ่อเราจะเสีย คือ ไม่มีวี่แววอะไรเลย ว่าพ่อเราจะจากไปเร็ว
เราก็เรียนปกติ เรียนบ้าง เล่นบ้าง เราไม่ใช่เด็กสายเรียน แต่พอวันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีโทรศัพท์จากแม่ว่า พ่อน็อค เราก็พ่อน็อคเป็นยังไง ตอนนั้นเรายังเด็กมากๆ แล้วกลายเป็นว่าพอเวลาผ่านไปเราก็ดูแลพ่อได้ที่เราดูแลได้ เพราะว่าตอนนั้นเราก็เรียนไปด้วย
เราไม่มีเวลาไปดูแลพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล แล้วหลังจากนั้นพ่อก็เข้า I.C.U พ่อก็ทรุดลงเรื่อยๆ เร็วมาก แล้วก็เสียชีวิต ตอนนั้นคือเราไม่ได้เตรียมใจเลย เพราะว่าไม่มีวี่แววว่าพ่อจะไปเร็วขนาดนี้ ตอนนั้นเป๋เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าเราจะต้องทำยังไงต่อ แล้วยังมีแม่มีน้องอีก เสาหลักไม่อยู่แล้ว
แยมรู้สึกว่าอาจจะปลงด้วย เพราะว่าหลังจากช่วงที่พ่อเสียแยมเป็นคนที่ครอบครัวใหญ่มาก อยู่กัน 8 คนที่บ้าน ตอนสมัยเด็กๆ มียายทวด มีตา มียาย มีพี่ชาย
หลังจากพ่อแยมเสียตอน ม.3 ตาแยมก็เริ่มเสียตาม ที่บ้านเริ่มเสียคนที่ 2 ไป พอหลังจากที่ตาเสียได้สักพัก ช่วงปลายปียายทวดแยมก็เสียอีก ช่วงที่ยายทวดแยมเสีย แยมก็มองเรื่องการเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเจอ
พอหลังจากที่ยายทวดแยมเสียปุ๊บ ช่วงมหา’ลัย แยมคิดว่ามันคงจะไม่มีอะไรแล้ว แต่แม่แยมป่วยหนักช่วงมหา’ลัย แล้วรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว เราจะต้องส่งเสียตัวเอง เพราะแม่ทำงานไม่ไหวแล้ว เราก็ผ่านจุดนั้นมาได้
ด้วยยากลำบากไหม มันก็ไม่ได้ยากลำบากขนาดนั้น เพราะว่าเรายังมีคนที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ก็คือป้า เราอ่อนแอได้ไม่นาน ต้องบอกตัวเองแบบนี้ว่า อย่าจมอยู่กับมัน
พอหลังจากที่แม่เสียเป็นที่ 3 พี่ชายโดนรถชนเสียชีวิตคาที่ เราก็เลยคิดว่าอะไรกับชีวิตนักหนา สูญเสียเยอะมาก และแยมก็คิดว่าคงจะไม่มีเรื่องอะไรต่อจากนี้แล้ว
แต่หลังจากนั้นไม่เกิน 2 อาทิตย์ ยายแยมน็อกเข้าโรงพยาบาล แล้วเขาก็ค่อยๆ หมดลมไปเอง อันนี้เป็นสิ่งที่แยมเสียใจมากที่สุดเลย ตอนที่ยายแยมเสีย แยมรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เรายังเล็กๆ แต่เราไม่มีเวลาให้กับเขาเลยสักนิดเดียว
เรารู้สึกเราไม่มีเวลาให้กับคนที่เรารักเลย แล้วเราก็มองชีวิตใหม่ ว่าชีวิตเกิดมามันไม่ได้เกิด แก่ เจ็บ ตายแล้วนะ บางคนเกิดมาอาจจะตายเลยก็ได้ หรือบางคนเกิดมาอาจจะเจ็บแล้วก็ตายก็ได้”
เมื่อพูดถึงเรื่องชีวิตครอบครัว รอยยิ้มที่เห็นตลอดการให้สัมภาษณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ในที่สุดเธอกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว เรื่องที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะไม่มีเวลาให้อ่อนแอกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
“คือ คิดว่าตัวเองคงมาสายพากย์ไม่ได้ เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่แยมโทษตัวเองอยู่ว่าเสียงไม่เป็นเอกลักษณ์ มันทำให้แยมต้องกลับไปดูแลแม่
การที่เราได้อยู่กับเขา มันเป็นช่วงที่แย่เหมือนกัน เพราะว่าเราเห็นแม่เราทรุดลงทุกวันๆ แต่เราต้องบอกตัวเองว่าดีแล้ว ที่เราได้มีโอกาสได้ดูแลก่อนที่เขาจะไป
ทำให้เต็มที่เวลาที่ท่านจะไป เราจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง ว่าทำไมวันนั้นเราไม่ทำแบบนี้ ทำไมวันนั้นเราถึงไม่อยู่กับเขา
ตอนแรกเริ่มจากเด็กที่เป็นเด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรียน เป็นเด็กที่ก็เรียนๆ เล่นๆ แต่หลังจากที่พ่อเสียปุ๊บ เราต้องจริงจังกับชีวิตแล้ว
หลังจากนั้นแยมลองทำทุกอย่าง ลองค้นหาตัวเองมาตั้งแต่ช่วงอยู่ ม.4 ตอนนั้นมีดนตรีไทยเขาเปิดสอน ลองไปเผื่อค้นหาตัวเองได้ เผื่อจะหาเงินเข้าครอบครัวได้
มีรำก็ไปฝึกรำ มีแข่งกีฬาก็ลอง เราลองทำทุกอย่าง แยมเป็นคนที่อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ เรื่อยๆ เพราะตอนนั้นเหมือนกับเราละทิ้งไปช่วงหนึ่งที่เราลืมการพากย์เสียง ว่ามันเป็นความสุขของเรา เรารู้สึกว่าการได้ทำอะไรแบบหนักๆ
มันทำให้เราลืมเรื่องที่เศร้าได้ เราก็เลยไปทางอื่น แต่เราเผลอลืมในสิ่งที่ เฮ้ย! เราเคยมีความสุขกับการเล่นตะเกียบ เราเคยมีความสุขกับการใช้เสียงเล่นกัน มันเผลอลืมตรงนั้นไป
แล้วช่วงมหา’ลัย อย่างที่บอกว่ามันมีช่วงให้แยมทำโปรเจกต์หรือช่วงให้แยมฝึก ก็เลยกลับมาลองฝึก แล้วมันมีเวลาอยู่กับตัวเองด้วยค่ะ ก็เลยใช้เวลาในการฝึก เฮ้ย! มันสนุก เรารู้สึกว่าเราได้ลืมเรื่องในอดีตไปบ้าง เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนมันมีความสุข เราเริ่มยิ้มได้ เราเริ่มรู้สึกว่าเราภูมิใจในตัวเอง”
อย่างไรก็ดี เมื่อถามสาวอารมณ์ดีคนนี้ว่า ผ่านเรื่องราวมรสุม และจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไรดี เพราะสิ่งที่เธอต้องเจอ แทบไม่มีเวลาให้เตรียมใจ แยมบอกว่าต้องจัดการ และควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
“แยมเป็นคนๆ หนึ่งที่อ่อนแอและคิดมากเหมือนกับคนอื่น แต่เราต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เราต้องรู้ว่า ตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่
ตอนนี้เรากำลังเครียดเรื่องอะไร มันเป็นปัญหาใช่ไหม ถ้ามันเป็นปัญหา เราต้องแยกให้ได้ว่ามันเป็นปัญหาที่เราสามารถจัดการได้ไหม ถ้าเป็นปัญหาที่เราจัดการไม่ได้ปล่อยมันไปก่อน ถ้ามันเป็นปัญหาที่จัดการได้ก็ค่อยๆ ทำเป็นขั้นตอนไป”
แน่นอนว่าในสถานการณ์ตอนนั้นสำหรับแยม ไม่ใช่เรื่องง่ายในการจัดการกับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา เพราะต้องเจอคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ รวมทั้งมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต
“เต็มร้อยพรสวรรค์แยม 10 พรแสวง 90 เลย เพราะว่าแยมเป็นคนต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นโอกาสมันไม่ได้มีเยอะแยะมากมาย
แยมไม่ได้ไปฝึก แยมไม่ได้ไปเห็นห้องพากย์จริงๆ แยมไม่ได้มีโอกาสไปเรียน ไปคลุกคลีกับการพากย์แบบจริงๆ ขนาดนั้น แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราต้องแสวงเยอะๆ เอ๊ะห้องพากย์เป็นยังไง ทีมนักพากย์เขาทำกันยังไง อ๋อ! เขาเป็นแบบนี้ เขามีภาพเล่าเรื่อง อ๋อ! เขาเรียนรู้จากคาแรกเตอร์ จากภาพ เราก็เอาบ้าง เราไม่มีภาพ
แต่เราจินตนาการด้วยเสียง ลองประตูว่าจะมีเสียงเป็นยังไง เราลองพากย์เสียงประตู หรือเวลาที่เราดูการ์ตูนตัวหนึ่ง เราชอบมากเลย ประโยคนี้เราจำได้ เราเอาไปฝึกเลย เราเอาไปฝึกตาม อาบน้ำก็พูดตาม กินข้าวก็พูดตาม”
ทวงคืนอาชีพนักพากย์ จากดารา?
“อันนี้แยมไม่ได้อยู่ของส่วนงานพากย์ แยมอยู่ในส่วนของงานพากย์นิทาน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องสักทีเดียว แต่เรารู้สึกว่าการที่ดารามาพากย์ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเห็นสมควรกับหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่ว่าดาราอยากพากย์ตัวนี้ แล้วเข้าไปพากย์ มันไมใช่แบบนั้น”
นี่คือเสียงสะท้อนของนักพากย์นิทาน หลังจากโลกออนไลน์เกิดกระแสติด #คืนอาชีพให้นักพากย์ ในโลกทวิตเตอร์ เพราะช่วงหลังมักจะนำศิลปิน-ดารา มาพากย์แทนการใช้นักพากย์มืออาชีพ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการแย่งอาชีพนักพากย์ และมองเป็นเพียงการตลาด
“อยากจะให้ทุกคนมองใหม่ว่า มันเป็นการเลือกและคัดสรรแล้วจากๆ หลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กำกับเอง จากบริษัทเอง หรือยกตัวอย่างเช่นบริษัทดิสนีย์ ที่เขาให้มาพากย์เสียง
เขาก็จะมีการส่งเสียง อัดเสียงเพื่อให้ทางดิสนีย์เป็นคนเลือกอีกทีหนึ่ง แล้วก็ตีกลับมาว่าเสียงคนนี้ใช้ได้ไหม อาจจะส่งประมาณ 10 กว่าเสียง หรือ 50 เสียงก็ได้ แต่ทางดิสนีย์เขาจะเลือกกลับมาอีกทีหนึ่ง ว่าได้รึเปล่า เพราะฉะนั้นใจเย็นๆ นะคะ อย่างที่มีดารามาพากย์อยากจะให้ทุกคนเข้าใจ
แยมรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสมากกว่า โอกาสของเขาซึ่งนักพากย์เองก็ต้องอย่างเราเวลาเห็นดารามาพากย์ เราก็รู้สึกชื่นชมเขา บางคนคือเขาไม่มีพื้นฐานการพากย์ แต่บางคนเราตกใจเสียงที่ออกมา คือ เก่งมาก เขาสามารถทำได้ เราเป็นคนธรรมดา เราก็ต้องสามารถทำได้เหมือนกัน”
โดยมุมมองเธอนั้น บุคคลมีชื่อเสียง ไม่ได้มาแย่งอาชีพ และทำให้เสียอรรถรสในการดู กลับกันเธอมองว่าการสวมเสียงเป็นคาแรกเตอร์ของตัวละครนั้นๆ การ Acting ผ่านเสียงก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ส่งให้ตัวละครนั้นๆ เป็นคาแรกเตอร์ได้อย่างแนบเนียน
“เกี่ยวกับอินเนอร์ เพราะว่าอย่างแยมพากย์แยมก็ต้องใช้อินเนอร์ ใช้หน้าตา บางทีพากย์ไปเราไม่รู้หรอกว่าหน้าตาเราเป็นยังไง แต่เรามาย้อนดูตัวเองเหมือนแสดงเลย แต่มันเกี่ยวกับอินเนอร์ด้วยค่ะ เพราะว่าการให้เสียง มันคือ เหมือนที่แยมพูดไปก่อนหน้านี้ว่า การพากย์การ์ตูนมีภาพเป็นตัวนำเรื่อง
เวลาตัวละครทำท่าอะไร เวลาตัวละครหายใจหรือหอบ คนที่พากย์ต้องให้เสียงหอบด้วย คือ มันต้องมีอินเนอร์ตามภาพนั้นๆ ซึ่งสิ่งที่แยมทำ หรือสิ่งที่แยมนำมาประยุกต์กับนิทานก็ตรงนี้ เราจะเล่าเฉยๆ ไม่ได้ มันต้องมีอินเนอร์ด้วย
มันต้องมีการพากย์เสียงหลายๆ คาแรกเตอร์ เพื่อที่จะทำให้นิทาน ตัวนิทานของเรามันสื่อได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะว่าของแยมมันเป็นเสียงนำ อย่างของพากย์การ์ตูนคือ เขามีภาพนำ
แต่ของแยมมีเสียงนำ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ได้สมบูรณ์มากที่สุด และแยมก็ใช้เทคนิคการตัดต่อให้เหือนการ์ตูน เพื่อประกอบไปด้วย
เพราะว่าเด็กๆ เดี๋ยวนี้ชอบการ์ตูน แยมก็นำทุกอย่างมาผสมผสานกัน แยมคิดว่ามันเป็นนิทานรูปแบบใหม่ที่ทำออกไป ก็รู้สึกภูมิใจ ที่เราได้ผลิตรายการนิทานรูปแบบใหม่ๆ ออกไป”
เมื่อให้เทียบการให้เสียงพากย์ไทยแล้วนั้นที่แสดงเห็นถึงว่าเป็นมืออาชีพ เธอยกเจ้าหญิงรายา โดย “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์”เป็นต้นแบบ
“ญาญ่าเลยค่ะ เรื่องแรก เรื่องรายาชอบมาก ตอนแรกมีกระแสเยอะว่าทำไมเอาดารามาพากย์อีกแล้ว
แต่พอเราได้เข้าไปดูหนังจริงๆ เรารู้สึก โห! ไม่ใช่เล่นๆ เลย เก่งมาก คิดว่าถ้าเราไม่รู้ก่อนหน้านี้ว่าญาญ่าเป็นคนพากย์ เราก็คิดว่านักพากย์เป็นคนให้เสียง มืออาชีพมาก เรารู้สึกว่าเราได้เห็นมุมมองความสามารถใหม่ๆ ของดาราท่านนั้นด้วย
แยมเรียนรู้จากความพยายามของเขาดีกว่า เพราะเขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ที่ญาญ่าให้เสียง แล้วเราทึ่งในความสามารถเขามากว่าเขาให้เสียงดีจังเลย เรารู้สึกว่าเขาเป็นดารา เขาสามารถให้เสียงได้ เรามีทักษะในการใช้เสียง เราต้องพัฒนาต่อ ขนาดคนที่เขาไม่มีพื้นฐานในเรื่องของการพากย์ เขายังพากย์ได้ดีขนาดนี้ เราต้องฝึก มีแรงฮึด
มันไม่ได้เป็นทางด้านลบเลย แยมรู้สึกว่ามันบวกมากกว่า เราได้ฝึกเพิ่ม เราได้เห็นโรคใหม่ๆ เราได้เห็นผลงานข้างหน้าอีก มันไม่ใช่แค่ดารามาพากย์อีกแล้ว อยากจะให้ทุกคนเข้าใจ และอยากจะเก็บเป็นแรงขับเคลื่อนของตัวเอง”
อย่างไรก็ดี เทียบกับทุกวันนี้ ที่หลายคนอาจจะมองว่าอาชีพนี้ไม่ยั่งยืน หรือได้จมหายตายจากไปแล้วนั้น สาวต่างจังหวัดที่มีความฝันในเส้นทางนี้ มองต่างออกไปว่า ยังมีอาชีพเกี่ยวกับเสียงที่หลายคนไม่รู้จักอีก การใช้เสียงยังอยู่รอดเพราะมีงานเยอะอยู่
“มันมีอาชีพเกี่ยวกับด้านเสียงอีกหลายอย่างมาก บางคนอาจจะมองว่าพากย์เสียงจะต้องพากย์การตูนและพากย์หนัง แต่จริงๆ มันยังมีพากย์โฆษณา มันยังมีพากย์กีฬา มันยังมีพากย์หนังสือเสียงก็มี ซึ่งแยมพยายามทำหลายๆ อย่างควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะเรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละงาน
หลักๆ เลยตอนนี้ทำ podcast งานรองคือเป็น Influence ค่ะ และก็งาน freelance ตอนนี้คือรับงานลงเสียง โฆษณา สติ๊กเกอร์ไลน์ สารคดี และเสียงตอบรับอัตโนมัติมือถือ และสปอตโฆษณา มีเยอะมากเลยค่ะ แต่ว่าไม่เคยละทิ้งของเสียง เราถนัดด้านไหนก็ลองด้านนั้นเลย”
ท้ายที่สุดแล้ว พอได้อยู่เส้นทางที่เป็นเป้าหมายชีวิตของตัวเองแล้ว หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ใครลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เธอมองว่าก็ช่วยเติมเต็มชีวิตเส้นทางแห่งนี้แล้ว
“แยมเป็นเด็กต่างจังหวัด แล้วแยมรู้สึกว่าเราอยู่ต่างจังหวัด แต่เราสามารถทำอาชีพนี้ได้ เราสามารถทำอาชีพที่เรารักได้ และเรื่องนี้แยมอยากจะถ่ายทอดให้น้องๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเด็กที่กำลังฝึกพากย์อยู่ หรือใครที่กำลังหางานเสริม แยมรู้สึกว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่แยมเป็นคนต่างจังหวัดและแยมสามารถทำได้
แยมก็คิดว่าคนอื่นที่มีความพยายามเขาก็ทำได้เหมือนแยมเหมือนกัน อยากจะแชร์ตรงนี้ให้กับคนที่เขาอยากจะมีโอกาส อยากจะหางานเพิ่ม รักอาชีพนักพากย์จังเลย แต่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะไปพากย์การ์ตูนหรือไปพากย์โฆษณาหรือจะไปพากย์นิทาน มันมีการพากย์ที่หลากหลายมาก
ซึ่งแยมก็อยากจะเป็นกระบอกเสียงว่า งานพากย์มันมีหลายอย่าง และงานพากย์ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องสตูที่กรุงเทพฯ หรือห้องสตูบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เราสามารถเลือกรับงานได้หลากหลายได้ จากตัวของเราที่อยู่ต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เด็กๆ ที่ติดตามน้อยใจไป หรือท้อไป ก็อยากเป็นกระบอกเสียงตรงนี้”
“เรียกว่านักพากย์นิทานดีกว่าค่ะ ปกติถ้าเรียกว่านักพากย์เฉยๆ ทุกคนจะเข้าใจผิดว่า แยมเป็นนักพากย์การ์ตูน แต่จริงๆ แยมคือไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับพากย์การ์ตูน หรือพากย์หนัง คือแยมทำงานเกี่ยวกับนิทานอย่างเดียวเลย
อยากพากย์ เพราะว่ามันเป็นความฝันตั้งต้น ใครที่ฝึกพากย์มาทางนี้ก็อยากเป็นนักพากย์ อันนี้คือความฝันตั้งต้นของแยมเลย ทำเสียงโดเรม่อนหน้าชั้นเรียนมาตอนนั้น อยากเป็นนักพากย์ จะต้องใช่แน่ๆ
อาชีพในฝัน อันนี้เป็นอาชีพตั้งต้นแยมเลย ที่อยากจะเป็น ถ้าเกิดมีโอกาสในวันข้างหน้าก็ไม่พลาดแน่นอนค่ะ เรื่องอะไรก็ได้จริงๆ นะ ตอนนี้แยมคิดว่าถ้ามีโอกาสก็ทำได้
แยมยังไม่เคยมีโอกาสพากย์หนัง ด้วยโอกาสและด้วยงานที่แยมทำอยู่ตอนนี้ด้วย ก็ยังย้ายไปทำอย่างอื่นได้ไม่เต็มที่ ถ้าวันไหนมีโอกาสก็ไม่พลาดอย่างแน่นอนค่ะ
หนังไม่เคยพากย์เลยค่ะ อยากลองพากย์ดู เพราะว่าเราก็อยู่ในสนามของการพากย์นิทาน หลากหลายคาแรกเตอร์มากๆ จนบางทีอยากจะลองพากย์หนังดูบ้าง
แต่เรารู้ว่าการพากย์หนังต้องใช้สมาธิสูงมาก เพราะว่าการพากย์หนัง คือ จะมีภาพนำ มีบทที่ต้องอ่าน และเราต้องดูจากหน้าจอ ปากพากย์ ดูบท ดูภาพ คือประสาทสัมผัสต้องครบค่ะ
ส่วนของพากย์นิทานของแยม บางทีมันมีตัวละครน้อย เราก็สามารถจัดการตัวเองได้ ส่วนของการพากย์การ์ตูนเราต้องไปอยู่ร่วมทีมกับเขาด้วย เพราะว่าการพากย์การตูนไม่ได้มีแค่ตัวการ์ตูน 1 ตัว 2 ตัว
มันมีตัวการ์ตูนเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้กับการทำงานเป็นทีมด้วย แยมคิดว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี ถ้าแยมได้เข้าไปร่วมการพากย์หนัง”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR ศรอำ
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: วชิร สายจำปา
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **