“คำว่า ‘ถูกข่มขืนมาค่ะ’ เป็นเรื่องที่ยากมากนะที่จะพูดออกมา บางคนผ่านก็ปล่อยไปหลายวันกว่าจะมาแจ้งความ เพราะไม่กล้าพูด เพราะไม่รู้จะไปเจอตำรวจแบบไหน…”
นี่คือเสียงสะท้อนหนึ่งจากคนที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายในคดีความผิดทางเพศมักจะไม่กล้าเข้าแจ้งความ เนื่องจากหลายโรงพักยังไม่มี “พนักงานสอบสวนหญิง” ประจำการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะผู้หญิงหลายคน รู้สึกสบายใจที่จะให้ปากคำกับตำรวจหญิง มากกว่าตำรวจชาย
ปัญหานี้ทำให้ “ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง” ยังคงเดินหน้าเป็นเสียงเล็กๆ เพื่อเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางอคติและความไม่เข้าใจจากบรรดา “ผู้ใหญ่” ในระบบราชการไทย
ภาพตำรวจหญิงเดินสวนสนาม ไม่ระบุวัน ที่มา @kp.police.cadet/ Facebook]
- เขาค้อ: เด็กหญิงอายุ 12 ปีที่เผชิญกับการถูกล่วงละเมิดมาตลอดหลายปีถูกสถานการณ์บีบให้ต้องแอบถ่ายผู้ล่วงละเมิดกระทำความผิดต่อเธออีกครั้งเพื่อนำเสนอเป็นหลักฐาน เธอรายงานอาชญากรรมก่อนหน้านี้แล้ว แต่ตำรวจไม่เชื่อเธอ
- สระบุรี: ตาพาหลานสาวที่ยังเด็กไปที่สถานีตำรวจ เพื่อแจ้งความว่าเธอถูกล่วงละเมิดโดยพ่อเลี้ยงของเธอ แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ได้รับการดำเนินการใดๆ เพราะไม่ได้เป็นพ่อหรือแม่แท้ๆ ของผู้เสียหาย แต่สุดท้ายแม่ของเหยื่อก็ไม่มาแจ้งความ เพราะต้องการปกป้องพ่อเลี้ยง
- สมุทรสาคร: เด็กคนหนึ่งถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน น้าสาวจึงพาหนีไปอยู่ที่อื่น แต่ผู้กระทำผิดเป็นคนใหญ่คนโตในจังหวัดยืนกรานกับตำรวจว่า ต้องเอาเด็กคนดังกล่าวกลับมาอยู่ที่เดิม และตำรวจเรียกผู้เสียหายพร้อมน้าสาวมาให้ปากคำถึงในพื้นที่ ทั้งที่ไม่รู้สึกปลอดภัย
เรื่องเล่าต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่หลายฝ่ายนำมาหารือกันในงานเสวนาเกี่ยวกับคดีความผิดทางเพศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แม้ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นต่างพื้นที่กัน แต่ล้วนมีลักษณะเรื่องเล่าร่วมกันประการหนึ่ง นั่นคือเจ้าหน้าที่สอบสวนทั้งหมดเป็นผู้ชาย
หากพูดกันตามจริงแล้ว มีแนวโน้มน้อยมากที่เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศจะถูกสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่เพศหญิง เพราะพนักงานสอบสวนหญิงมีจำนวนน้อยมาก มีการประเมินไว้ว่าปัจจุบันมีพนักงานสอบสวนหญิงปฏิบัติหน้าที่จริงทั่วประเทศเพียง 500 นายเท่านั้น ในประเทศที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน
นักรณรงค์สิทธิระบุว่าการขาดเจ้าหน้าที่สอบปากคำหญิงเป็นอุปสรรคทำให้เหยื่อหลายคนไม่มาร้องเรียนคดีที่เกิดขึ้น และทำให้เหยื่อที่มาร้องเรียนมักเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เข้าใจหรือไม่ละเอียดอ่อนต่อผู้เสียหาย หรือไม่แยแสอย่างสิ้นเชิง จากกองกำลังตำรวจที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย การปฏิรูปครั้งใหญ่ล่าช้ามานานแล้ว แต่ในทัศนะของอดีตพนักงานสอบสวนหญิงท่านหนึ่ง มองว่าผู้บัญชาการระดับสูงก็ยังดูเหมือนจะค่อยไม่จริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้
“พี่ก็อยากให้เปลี่่ยนแปลงมานานแล้วนะ แต่มันก็ไม่สำเร็จซะที” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี อดีตพนักงานสอบสวนหญิงในกรุงเทพกล่าวในการสัมภาษณ์ “โดยส่วนตัวพี่ พี่มองว่ามันขึ้นอยู่กับผู้บริหาร หลายคนชอบมองว่าความผิดทางเพศเป็น ‘เรื่องในบ้าน’ มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่ควรไปคิดแบบนั้น เรื่องนี้มันไม่เล็กเลยนะ”
ภาพ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ที่มา: Friedrich Ebert Stiftung/Facebook
ฉัตรแก้ว เป็นประธานของชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ดังจะเห็นได้จากชื่อ ชมรมดังกล่าวคือกลุ่มสำหรับผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ที่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเสมือน “ด่านหน้า” ของตำรวจที่ต้องพบเจอกับผู้ที่มาแจ้งความหรือร้องเรียนคดีต่างๆ
หลายปีที่ผ่านมา ฉัตรแก้วและกลุ่มของเธอได้เรียกร้องให้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สอบสวนหญิงและปรับปรุงวิธีการรายงานและสืบสวนสอบสวนการล่วงละเมิดทางเพศ
“มันเป็นเรื่องทัศนคติ ค่านิยม ถึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้”
‘ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย…’
พนักงานสอบสวน มักเป็น “ด่านหน้า” แห่งแรกของเหยื่ออาชญากรรมในประเทศไทย เพราะพนักงานสอบสวนทำหน้าที่สารพัดเกี่ยวกับคดี ไม่ว่าจะเป็นการสอบปากคำเรื่องลักษณะ เวลา และสถานที่ของการกระทำผิด ยืนยันข้อมูลลำดับเหตุการณ์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิด การบาดเจ็บและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ ฯลฯ
นอกจากการรวบรวมหลักฐาน พนักงานสอบสวนยังเป็นฝ่ายที่ต้องติดต่อประสานงานกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งการขอหมายศาล การนำตัวผู้ต้องสงสัยมาส่งฟ้องศาล และเขียนรายงานสำนวนคดีให้กับอัยการ
พนักงานสอบสวนเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย ข้อมูลอย่างเป็นทางการของตำรวจบ่งชี้ว่าทั่วประเทศไทยมีเจ้าพนักงานสอบสวนอยู่ประมาณ 10,000 ตำแหน่ง แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 700 คนเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง
แต่นั่นก็คือตัวเลข “ทางการ” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว เล่าเสริมว่าตัวเลขจริงน้อยกว่านั้นอีก เพราะพนักงานสอบสวนบางครั้งถูก “ยืมตัว” ไปทำงานตำแหน่งประจำการอื่นๆ ที่ขาดกำลังคน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปของระบบราชการตำรวจ
พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว ประมาณการว่ามีเจ้าหน้าที่หญิงเพียงประมาณ 500 คนเท่านั้นที่ประจำการอยู่ทั่วประเทศในแต่ละวัน เพื่อเปรียบเทียบให้ภาพว่าจำนวนนี้น้อยเพียงใด ขอให้ดูข้อมูลว่าในปี 2556 ประเทศไทยมีศัลยแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 2,000 คน ซึ่งเป็นอาชีพที่ถือว่า “ขาดแคลน” อย่างหนักอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว
ด้วยจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่น้อยนิด หมายความว่าผู้หญิงที่ประสงค์ร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศหลายคนต้องให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนชาย ซึ่งอาจจะปฏิบัติกับการร้องเรียนด้วยความละเอียดอ่อนอย่างเหมาะสมหรือไม่ก็ได้
ภาพ: ตำรวจสอบปากคำกลุ่มนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่าถูกสะกดรอยตามและคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดเลย เมื่อ 4 ก.พ. 2564
“ถ้าในมุมมองของพี่ เวลาผู้หญิงพูด กับผู้ชายพูด คำพูดมันก็คนละฟีลลิ่งกันนะ” พ.ต.อ. ฉัตรแก้ว กล่าว “ลักษณะการพูด การซักถาม ถ้าเป็นผู้หญิงพูดกับผู้หญิง เค้าก็จะไม่อาย จะกล้าพูดกล้าให้รายละเอียดมากกว่า”
ภายใต้กฎหมายของไทย ผ้หญิงมีสิทธิเลือกที่จะให้ปากคำกับเจ้าพนักงานหญิง และถ้าหากมีการร้องขอ ทางเจ้าหน้าที่ต้องจัดหามาให้
แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการจัดหาพนักงานสอบสวนหญิงนับได้ว่ายาวนานและซับซ้อน ขั้นแรก พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องแจ้งคำร้องต่อผู้กำกับการของสถานีตำรวจนั้นๆ จากนั้นจะต้องส่งเรื่องต่อไปยังผู้บัญชาการภาค ซึ่งจะเป็นผู้ติดต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจคนอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อดูว่าโรงพักใดมีพนักงานสอบสวนหญิงประจำการอยู่บ้าง
เมื่อหาพนักงานสอบสวนหญิงได้แล้ว ผู้บัญชาการภาคจะต้องลงนามคำสั่งพิเศษเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวนสำหรับผู้เสียหายที่ร้องขอ
เนื่องด้วยความซับซ้อนเช่นนี้ ผู้หญิงหลายคนจึงลงเอยที่จะไม่ใช้สิทธิ์ดังกล่าว และยอมให้การแก่พนักงานสอบสวนชายอยู่ดีนั่นเอง
เมื่อเหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม
ประเทศไทยเพิ่งริเริ่มการมีพนักงานสอบสวนหญิงในปี 2538 เท่านั้น กลุ่มแรกประกอบด้วยตำรวจหญิงเพียง 15 คน ฉัตรแก้วเป็นหนึ่งใน 15 คนนั้น เธอทำงานในฝ่ายสอบสวนจนกระทั่งเพิ่งเกษียณอายุไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว ยืนยันว่ามีพนักงานสอบสวนชายหลายคนที่เข้าใจความรู้สึกและให้เกียรติผู้เสียหาย ทำงานคดีทางเพศได้ดี แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับตำรวจที่เพิกเฉยหรือไม่ให้ความสำคัญต่ออาชญากรรมทางเพศก็มีให้เห็นค่อนข้างแพร่หลาย
เรื่องเล่าเหล่านี้บางเรื่องได้มีการหยิบยกมาหารือกันที่งานเสวนาเนื่องในวันสตรีสากล เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา จากการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของ “บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” นักแสดงผู้มีชื่อเสียงและยังเป็นผู้ดำเนินงานของมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ
ที่งานเสวนา ซึ่งจัดโดยมูลนิธิฟรีดริช เอเบิร์ต สติฟตุง ปนัดดากล่าวว่าตลอด 10 ปีของการทำงานด้านการกุศลเพื่อช่วยเหลือเหยื่อคดีทางเพศ เธอเคยพบเห็นหลายคดีที่ตำรวจเป็นฝ่ายจัดการการร้องเรียนจากผู้หญิงและเด็กอย่างผิดพลาดเสียเอง
ในคดีหนึ่งที่รุนแรงเป็นพิเศษ ซึ่งปนัดดาระบุว่าเกิดขึ้นในจังหวัดหนึ่งแถวๆเขาค้อ เด็กหญิงวัย 12 ปีถูกเจ้าของขายชำข่มขืนหลายครั้งแล้ว ต่อมาได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจกลับระบุว่า “ไม่มีหลักฐาน”
ปนัดดาเล่าว่า เด็กคนดังกล่าวเลยคิดอย่างซื่อๆ เพราะเธอรู้อยู่แล้วว่าจะถูกข่มขืนอีก เลยไปขอให้เพื่อนปีนเข้าไปซ่อนในบ้าน หลบอยู่ในตู้เสื้อผ้า แล้วแอบถ่ายคลิปเหตุการณ์ไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
“เด็กจะไม่ต้องทำแบบนี้ใช่มั้ย ถ้าตำรวจฟังแต่แรก” ปนัดดาตั้งคำถาม
อีกคดีหนึ่งที่จังหวัดสงขลา มีกลุ่มวัยรุ่นหญิงรวมตัวฟ้องคดีข่มขืนกับตัวแทนบริษัทจัดหาโมเดลลิ่งที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ปนัดดาบอกว่า แม้เหยื่อจะมาจากหลายจังหวัดในภาคใต้ ตำรวจกลับสั่งให้ทุกคนเดินทางมายังสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาเพื่อสอบปากคำด้วยตัวเอง ไม่มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้เสียหาย
“กว่าจะจับผู้ร้ายได้แต่ละเคส ทำไมมันเหนื่อยจัง” ปนัดดาตัดพ้อ ณ งานเสวนา “ทำไม [ผู้เสียหาย] ต้องสู้ขนาดนี้วะ ทำไมต้องหาหลักฐานเองอะ ทำไมเด็กต้องถ่ายคลิปเองอะ ทำไมเด็กต้องสู้ถึงขนาดนี้ เมื่อไหร่คดีทางเพศจะได้รับการดูแลอย่างจริงจังซะที”
นอกจากนี้ยังไม่มีความเป็นส่วนตัวและความรอบคอบต่อผู้หญิงโดยทั่วไปด้วย สถานีตำรวจหลายแห่งไม่มีห้องรโหฐานไว้สำหรับสอบสวนเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะ เหยื่อหลายคนต้องให้ปากคำท่ามกลางบุคคลอื่นๆในโรงพัก
“ต้องเข้าใจว่า ถ้าเป็นคดีความทางเพศ ต้องมาแจ้งความ พร้อมกันกับคนคดียาเสพติด หรือตอนที่คนชลมุนกันทั้งโรงพัก” ปนัดดากล่าว “จะกล้าหรอ คำว่า ‘ถูกข่มขืนมาค่ะ’ เป็นเรื่องที่ยากมากนะที่จะพูดออกมา บางคนผ่านก็ปล่อยไปหลายวันกว่าจะมาแจ้งความ เพราะไม่กล้าพูด เพราะไม่รู้จะไปเจอตำรวจแบบไหน”
“นี่คือที่เราเจอมานานแล้วค่ะ และเจอซ้ำๆ ซากๆ ไม่เปลี่ยนแปลง” ปนัดดาพูดเสริม
จากคำบอกเล่าของอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้หญิงในจังหวัดยะลา บางพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้มักจะมีปัญหาผู้หญิงถูกล่วงนะเมิดทางเพศไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้นำชุมชนกับตำรวจนำเอากฎระเบียบแบบศาสนามาใช้ แทนที่จะใช้กฎหมายบ้านเมือง
อัญชนาเล่าว่า เมื่อเกิดการล่วงละเมิดขึ้น บางครั้งตำรวจจะยอมให้ผู้นำชุมชนเจรจากับผู้กระทำผิดและเหยื่อเพื่อให้เรื่องได้รับ “การไกล่เกลี่ย” โดยไม่ต้องเปิดการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมอย่างเป็นทางการ
“แบบนี้มันเป็นการใช้กลไกสังคมไกล่เกลี่ย ไม่ได้ผ่านความมีส่วนร่วมของผู้หญิง และไม่ได้ออกแบบโดยผู้หญิงเลย” อัญชนากล่าวในงานเสวนา “ตัดสินกันโดยการใช้กลไกสังคมไม่ใช่กฎหมาย และไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิง”
ตำแหน่งที่ภาระหนักอึ้ง
เป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการตำรวจว่า แทบจะไม่มีตำแหน่งงานไหนแล้วในทั้งกรมตำรวจที่ต้องเจอภาระงานเยอะเท่ากับ “พนักงานสอบสวน”
ภาพ :ตำรวจปฏิบัติท่าทำความเคารพขณะที่ผู้บังคับบัญชาเดินผ่านไประหว่างพิธีมอบตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่มา: กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามปกติ สถานีตำรวจมักจะมีพนักงานสอบสวนเพียง 2-3 คนอยู่ในสังกัด แต่ละคนทำงานเข้าเวรกะละ 8 ชั่วโมง ต้องรับแจ้งความและร้องทุกข์ในคดีอาชญากรรมหลายสิบเรื่องในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่หลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ของการเข้าเวรไปกับการสอบสวนผู้เสียหาย ติดต่อประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ในการสะสางคดี แล้วเมื่อออกเวรก็ต้องหอบเอางานเอกสารที่ค้างไปทำต่อใน ‘เวลาว่าง’ ก่อนจะวนซ้ำกระบวนเดิมอีกในวันต่อมา
“งานสอบสวน ไม่มีใครอยากมาทำหรอก มันเหนื่อย” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้วกล่าว “ตำแหน่งอื่นๆ ใน ส.น. เวลาหมดเวรเขาก็กลับบ้าน แต่พนักงานสอบสวนไม่ใช่นะคะ ต้องเอางานเอกสารไปทำต่อที่บ้าน พูดง่ายๆ คือเป็นงานที่ต้องมี ‘การบ้าน’ ตลอด”
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนขอย้ายไปปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นๆ หลายร้อยคนในแต่ละปี แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นที่นิยมของงานนี้ได้เป็นอย่างดี พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าวว่าข้าราชการตำรวจหลายคนพยายามวิ่งเต้นกันประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแต่งตั้งไปเป็นพนักงานสอบสวน
ตำแหน่งพนักงานสอบสวนเป็นที่รับรู้กันอยู่ภายในด้วยว่าเป็นงานที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสาเหตุเป็นเพราะความเครียดอย่างมหาศาลที่มาพร้อมกับตำแหน่งนี้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ช่วง 10 เดือนของ พ.ศ. 2562 มีพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย 6 ราย ใน พ.ศ. 2563 มีการฆ่าตัวตายทั้งหมดอีก 7 ราย การฆ่าตัวตายของพนักงานสอบสวนครั้งล่าสุดเท่าที่มีการรายงานในหน้าสื่อ เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2564
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พนักงานสอบสวน หากไม่เป็นผู้ที่มี “อุดมการณ์” แรงกล้า ก็เป็นคนที่ไม่มีทางเลือก
“ไม่ว่าหญิงหรือชาย ขาดแคลนทั้งนั้นแหละค่ะ” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว “เรามีคนทำงานสอบสวนไม่เพียงพอ แต่คดีความเยอะขึ้นทุกวันนี้ และความซับซ้อนของคดีก็มากขึ้นด้วย”
ตำรวจหญิงมีไว้แค่ชงกาแฟ-ถือโทรศัพท์?
การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบรรจุพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่มขึ้นมาทีเดียวหลายๆคน ก็เป็นเรื่องยาก เพราะมีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความรู้ขั้นสูงและประสบการณ์ทำงานเป็นที่ยอมรับเท่านั้นจึงจะมีสิทธิในการคัดเลือกเป็นพนักงานสอบสวน และผู้หญิงหลายคนในวงการสีกากียังไม่ได้รับโอกาสให้เติบโตถึงจุดนั้นตั้งแต่แรก
ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในฐานะชั้นผู้น้อย หลายคนถ้าไม่เป็นเลขาหน้าห้องนาย ก็เป็นผู้ช่วยของบรรดาตำรวจอาวุโส เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะสื่อมองแต่หน้าตา
ดูตัวอย่างกรณี ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ หรือ “หมวดไวกิ้ง” ตำรวจสาวที่ได้รับมอบหมายในงานแถลงข่าวใหญ่เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ให้ถือโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” จะได้สอบปากคำผู้ต้องสงสัยผ่านทางไกลได้
“บรรดาชาวเน็ตต่างอยากรู้จักตำรวจหญิงคนนี้ว่า ภายใต้หน้ากากของเธอคือใคร เนื่องจากความน่ารัก เรียกได้ว่าสวยทะลุแมสก์ออกมาเลยก็ว่าได้” เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งเขียนถึงหมวดไวกิ้ง
ภาพ: ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ ถือโทรศัพท์มือถือให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เมื่อ 26 ส.ค. 2564 ที่มา: Youtube/Bright TV
“พี่ว่าสาเหตุมาจากวัฒนธรรม ทัศนคติ การมองว่าผู้หญิงทำไม่เก่งเท่าผู้ชาย” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้วกล่าว “ถ้าเป็นผู้หญิง ผู้บังคับบัญชาเขาก็ชอบมองว่า คงทำได้แต่คดีเล็กๆ น้อยๆ แล้วในเมื่อผู้หญิงไม่ค่อยได้รับมอบหมายคดีใหญ่ๆ ผู้หญิงก็เลยไม่รับความก้าวหน้าในองค์กร”
มีรายงานจำนวนตำรวจหญิงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รายละเอียดแตกต่างกันไป แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่หญิงเหล่านี้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยขนาดเล็กมากๆ กล่าวคืออยู่ประมาณระหว่าง 4 ถึง 7 เปอร์เซ็นต์จากกำลังพลทั้งหมด 200,000 คน
สถานการณ์ยิ่งดูเหมือนจะแย่ลงเข้าไปอีก เมื่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจประกาศในปี 2561 ว่าจะไม่รับผู้สมัครหญิงแล้ว
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวว่าไม่สร้างสรรค์ เพราะเป็นการบั่นทอนความพยายามในการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิง แต่ผู้บัญชาการระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่างยืนยันว่า ผู้หญิงยังคงเข้าทำงานเป็นตำรวจได้ผ่านวิธีการอื่นๆ ด้วยการสมัครโดยใช้ใบปริญญาที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วมวิชาฝึกฝนภาคบังคับ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้วยอมรับว่าการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดอยู่ดี เพราะทางออกในระยะยาวคือการตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจ” ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เพื่อรับมือกับคดีอาชญากรรมทางเพศโดยเฉพาะอย่างครบวงจร คล้ายกับการทำคดีด้านยาเสพติด
พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว เสนอว่าควรตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย คัดเฉพาะคนที่มีความกระตือรือร้นสูงและได้รับการฝึกมาอย่างดี เพื่อทำหน้าที่สอบปากคำเหยื่อ สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเพศ และทำงานร่วมกับองค์กรหลายๆ ด้าน เช่น บ้านสถานสงเคราะห์ โรงพยาบาล และนักบำบัดสุขภาพจิต เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเหยื่อ
“คนที่มาดูแลงานสอบสวนตรงนี้หลายคนก็ไม่ได้อยากมาดูแล เขาอยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า จับยา จับน้ำมันเถื่อน พวกคดีที่ได้หน้าตาหรือได้ลงสื่อเยอะๆ ส่วนผู้หญิงที่เขาอยากมาทำงานนี้ เขาก็ไม่ได้มาทำ เพราะไม่ได้ก้าวหน้าในการงานตั้งแต่แรก” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้วกล่าว
ภาพ: กลุ่มพนักงานสอบสวนหญิงรอรับรางวัลผลงานดีเด่นที่สโมสรตำรวจ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 ที่มา: ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง
“เราต้องมีช่องทางให้เขาโตในการงาน ให้โอกาสเขาทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีเถอะค่ะ”
ในปัจจุบัน ชมรมพนักงานสอบสวนหญิงมีกิจกรรมต่างๆสำหรับพนักงานสอบสวนหญิงที่ปฏิบัติงาน เช่น จัดอบรมจิตวิทยาเด็กและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกับเหยื่อจากการล่วงละเมิดเด็ก บางครั้งทางชมรมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ เพื่อหาเงินทุนสำหรับการจัดเวิร์คช็อปเหล่านี้
นอกจากนี้ ชมรมพนักงานสอบสวนหญิงยังใช้ระบบ “บัดดี้” จับคู่ตำรวจหญิงอาวุโสหรือเกษียณอายุแล้วกับตำรวจหญิงรุ่นใหม่ด้วย เพื่อส่งต่อและแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ
“เราต้องการคนที่ทั้ง ‘มีใจ’ และ ‘เข้าใจ’ มาทำงานตรงนี้ค่ะ” พ.ต.อ. ฉัตรแก้วกล่าว